(จากซ้าย)
มร. โทมัส โครเม็ทซ์กา ผู้อำนวยการโครงการพลังงานทดแทน องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย
ดร. คริสทิเนอ ฟัลเคน-โกรสเซอร์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและการค้า สถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย
นายหร่อหยา จันทรัตนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน
นายกณพงศ์ เทพากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทรวงพลังงาน และ
มร. มาริอุส เมเนอร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร หอการค้าเยอรมัน-ไทย
กรุงเทพฯ, 8 กุมภาพันธ์ 2561 – กระทรวงพลังงานและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมจัด “งานสัมมนาโครงการพลังงานทดแทนชุมชน ไทย-เยอรมัน ครั้งที่ 3” ซึ่งการจัดงานสัมมนาครั้งนี้จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาโอกาสในการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนมาใช้ในชุมชนไทย ผู้แทนจากกว่า 10 ชุมชนทั่วประเทศไทยเข้าร่วมการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินโครงการด้านพลังงานยั่งยืนในจังหวัดของตนเอง โดยผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติได้มีโอกาสพบกับผู้แทนชุมชนเพื่อแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกริดพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน
นายหร่อหยา จันทรัตนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ประธานงานสัมมนาครั้งนี้ ได้กล่าวว่า “งานสัมมนาโครงการพลังงานทดแทนชุมชน ไทย-เยอรมัน ครั้งที่ 3 จะส่งเสริมชุมชนในการพัฒนาการใช้พลังงานในรูปแบบการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” และยังได้เน้นย้ำว่าความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงานและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้ช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนารูปแบบธุรกิจและแผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนที่เหมาะสมสำหรับชุมชนของไทย
“เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กระทรวงพลังงานได้ร่วมดำเนินตามเป้าหมายที่ 7 ด้านสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา” ซึ่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเทคโนโลยีภายในงานสัมมนาจะสามารถช่วยชุมชนในการบรรลุเป้าหมายข้างต้น นายหร่อหยา กล่าวเสริม
โทมัส โครเม็ทซ์กา ผู้อำนวยการโครงการพลังงานทดแทน องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวว่า “การที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน เป็นหลักการสำคัญสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะในแหล่งชุมชน งานสัมมนานี้จะช่วยทำให้เกิดการเจรจาและการแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างชุมชนและผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้พลังงานหมุนเวียนให้เป็นแหล่งพลังงานที่ยั่งยืนของประเทศไทย” นอกจากนี้ GIZ จะร่วมกับกระทรวงพลังงานในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมชุมชนในด้านการให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคโดยเฉพาะในด้านการพัฒนารูปแบบธุรกิจชุมชนต่อไป ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมการลงทุนในโครงการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ผู้แทนกว่า 150 คน ซึ่งมาจากองค์กรระดับชุมชน จังหวัด ภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นความท้าทายและร่างแนวความคิดสำหรับโครงการในประเทศไทยให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยมีการจัดสัมมนาแบบแบ่งกลุ่ม โดยแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar PV Rooftop Systems) ระบบกริดแบบผสมผสาน (บนเกาะ) (RE-Hybrid Grid Systems) และระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Water Pumping) ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้แบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงให้ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมของประเทศไทยและเยอรมนีได้ให้ข้อมูลและคำแนะนำในด้านการออกแบบโครงการอย่างเป็นรูปธรรมและแนวทางการแก้ปัญหาเชิงเทคนิคในปัจจุบันต่อผู้เข้าร่วมงาน
งานสัมมนาโครงการพลังงานทดแทนชุมชน ไทย-เยอรมัน จัดขึ้นครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นงานสัมมนาประจำปีงานแรกของโครงการด้านพลังงานทดแทนในชุมชนภายใต้บริบทของโปรแกรมพัฒนาโครงการพลังงานทดแทน (Project Development Programme – PDP) ซึ่งได้ดำเนินการโดย GIZ ในนามของกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงาน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWi) สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการได้ที่ http://www.thai-german-cooperation.info/project/content/16
ข้อควรทราบและความเป็นมา
ข้อมูลที่จัดทำขึ้นได้รวบรวมขึ้นภายใต้บริบทของแผนการพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทน ซึ่งดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ในนามของกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงาน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWi) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการพัฒนาตลาดของพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานภายในภูมิภาค ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือที่ยั่งยืนระหว่างธุรกิจเยอรมันและธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ อาทิ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์กรที่ให้ทุนอื่นๆ GIZ ดำเนินงานอยู่ในประเทศต่างๆ มากกว่า 130 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานประมาณ 18,000 คนทั่วโลก