ชาร์ลส เอ็ม ไรซ์ นักไวรัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยร็อคกีเฟลเลอร์ คว้ารางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ จากผลงานวิจัยที่มีส่วนช่วยรักษาไวรัสตับอักเสบซี

0
450
image_pdfimage_printPrint

ชาร์ลส เอ็ม ไรซ์ ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยา ซึ่งได้รับวิทยฐานะ Maurice R. and Corinne P. Greenberg Professor และหัวหน้าห้องปฏิบัติการทางไวรัสวิทยาและโรคติดเชื้อ ผู้ทำการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคและวิธีการป้องกันของระบบภูมิคุ้มกัน คว้ารางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ จากมูลนิธิโนเบลในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ประจำปีนี้ ร่วมกับ ฮาร์วีย์ เจ อัลเทอร์ จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ และ ไมเคิล ฮอตัน จากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา

งานวิจัยของศาสตราจารย์ไรซ์มีส่วนช่วยโดยตรงต่อการรักษาไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเป็นโรคชนิดรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อผู้คน 170 ล้านคนทั่วโลก ห้องแล็บของเขาทำงานด้านไวรัสมานานถึง 3 ทศวรรษ และกลายเป็นห้องแล็บแห่งแรกที่สามารถผลิตไวรัสที่เพาะเลี้ยงและศึกษาในห้องปฏิบัติการได้ ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่นี้ มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาจีโนมไวรัสที่ปรับปรุงขึ้นด้วยการจำลองแบบและสร้างโปรตีนของไวรัส จนนำไปสู่การผลิตยาชนิดใหม่ 3 ประเภท เพื่อรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีโดยตรง โดยมีงานวิจัยรับรองว่า การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันสามารถลดปริมาณไวรัสตับอักเสบซีให้อยู่ในระดับที่ตรวจไม่พบ และสามารถรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การติดเชื้อแบบเรื้อรังซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากอย่าง ไวรัสตับอักเสบซี สามารถรักษาได้แล้ว และเมื่อเวลาผ่านไป ความก้าวหน้าทางการแพทย์นี้จะช่วยชีวิตผู้คนนับล้านและพัฒนาชีวิตอีกมากมาย นี่เป็นผลลัพธ์โดยตรงจากงานวิจัยของศาสตราจารย์ไรซ์” ริชาร์ด พี ลิฟตัน อธิการบดีมหาวิทยาลัยร็อคกีเฟลเลอร์ กล่าว “ผลงานวิจัยด้านไวรัสของเขา รวมถึงความสำเร็จอันเป็นเอกลักษณ์ในการสร้างไวรัสตับอักเสบซีในห้องปฏิบัติการ ได้แสดงให้เห็นถึงพันธกิจของมหาวิทยาลัยนี้อย่างสมบูรณ์แบบ นั่นคือวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ ผมรู้สึกยินดีที่เขาได้รับเลือกให้รับรางวัลโนเบลซึ่งเป็นเกียรติยศขั้นสูงสุดในวงการวิทยาศาสตร์”

อัลเทอร์ และฮอตัน เริ่มดำเนินการโคลนจีโนมไวรัสตับอักเสบซีมาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่ทำให้เราสามารถระบุหาผู้ที่ติดเชื้อและกำจัดไวรัสออกจากเลือดได้ อย่างไรก็ตาม ความพยายามตลอดหลายปีในการเพาะไวรัสในเซลล์ตับในห้องแล็บ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาเพิ่มเติมและการพัฒนายากลับประสบความล้มเหลว โดยไรซ์ได้อธิบายเหตุผลว่า ปลายของจีโนมของไวรัสซึ่งจำเป็นสำหรับการเริ่มต้นการจำลองของไวรัสนั้นขาดหายไป จนในที่สุดเขาสามารถระบุลักษณะของจีโนมไวรัสได้แล้วเสร็จในปี 2539 และหนึ่งปีต่อมา เขาก็ประสบความสำเร็จในการผลิตไวรัสที่ติดเชื้อในห้องปฏิบัติการ

ขณะเดียวกัน เขายังเดินหน้าพัฒนาแอมพลิคอนย่อยจีโนมของไวรัสที่สามารถจำลองในเซลล์ได้โดยไม่ต้องสร้างไวรัสที่มีชีวิต ซึ่งทำให้สามารถออกแบบวิธีการทดสอบยาที่มีสามารถยับยั้งการจำลองของไวรัสได้โดยตรง ในปี 2556 ยากลุ่มแรกที่พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีของไรซ์ ได้รับการรับรองจาก FDA เพื่อใช้กับผู้ป่วย ปัจจุบัน มียาหลายตัว และสามารถรักษาผู้คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี หลังจากได้รับการรักษาระยะสั้น โดยแทบไม่มีพิษเลย

นอกจากนี้ กลุ่มของไรซ์ยังพัฒนาวิธีการทดสอบปัจจัยที่จำกัดการติดเชื้อในไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสตับอักเสบบี ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ไข้เลือดออก ไข้เหลือง ไวรัสซิกา ไวรัสชิคุนกุนยา ตลอดจนโคโรนาไวรัส เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไรซ์ได้นำเทคโนโลยี CRISPR มาใช้ในการระบุเป้าหมายการรักษาแบบใหม่สำหรับไวรัส SARS-CoV-2 และปรับแปลงเทคนิคที่พัฒนาขึ้นในงานไวรัสตับอักเสบซีของเขาเพื่อคัดกรองยาที่มีความสามารถในการยับยั้งโคโรนาไวรัส ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ

ศาสตราจารย์ไรซ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์คนที่ 26 ที่ร่วมงานกับมหาวิทยาลัยร็อคกีเฟลเลอร์และได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งนอกเหนือจากไรซ์แล้ว ยังมีอาจารย์เจ้าของรางวัลโนเบลอีก 4 ท่านที่ปัจจุบันทำงานอยู่ในคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยร็อคกีเฟลเลอร์ ได้แก่ ไมเคิล ดับบลิว ยัง (2017) โรเดอริก แม็กคินนอน (2003) พอล เนิร์ส (2001) และ ทอร์สเทิน วีเซล (1981)

ศาสตราจารย์ไรซ์เกิดที่เมืองแซคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี 2495 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาพันธุศาสตร์ในปี 2518 จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย โดยเขาได้เข้าทำงานในตำแหน่งนักวิจัยหลังปริญญาเอกตั้งแต่ปี 2524 ถึง 2528 ก่อนที่จะเข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยร็อคกีเฟลเลอร์ในปี 2544 เขาใช้เวลา 14 ปีในคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ทั้งยังเป็นสมาชิกของ National Academy of Sciences และเคยได้รับรางวัล M.W. Beijerinck Virology Prize ปี 2550 รางวัล Robert Koch Award ปี 2558 รางวัล InBev-Baillet Latour Health Prize ปี 2559 และรางวัล Lasker-DeBakey Clinical Medical Research Award ปี 2559

เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยร็อคกีเฟลเลอร์

มหาวิทยาลัยร็อคกีเฟลเลอร์เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยด้านชีวการแพทย์ระดับชั้นนำของโลก โดยทุ่มเทให้กับการวิจัยระดับนวัตกรรมและเปี่ยมด้วยคุณภาพ เพื่อยกระดับความเข้าใจในชีวิตมนุษย์ อันนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อมวลมนุษยชาติ แนวปฏิบัติด้านวิทยาศาตร์ที่โดดเด่นของทางมหาวิทยาลัยได้นำไปสู่การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในแวดวงชีววิทยาและการแพทย์อย่างมหาศาล มหาวิทยาลัยร็อคกีเฟลเลอร์ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 119 ปี มีนักวิทยาศาตร์ 26 คนที่สามารถคว้ารางวัลโนเบลมาครองได้สำเร็จ ขณะที่นักวิทยาศาตร์ 23 คนสามารถคว้ารางวัล Albert Lasker Medical Research Awards และนักวิทยาศาสตร์ 20 คน สามารถคว้าเหรียญเกียรติคุณ National Medal of Science

สื่อมวลชนติดต่อ
Katherine Fenz
ผู้จัดการฝ่ายสื่อสัมพันธ์
อีเมล: kfenz@rockefeller.edu