จังหวัดอุดรธานี และกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน พร้อมหน่วยงานพันธมิตรจากทุกภาคส่วน ร่วมจัดงานใหญ่ รวมผู้ประกอบการ และผลงานจากไทยและต่างประเทศรวม 6 ประเทศ ในงาน “GMS FABRIC EXPO 2018 : มหกรรมผ้าทอมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ภายใต้แนวคิด Colorful Fabric Life : อลังการสีสันผ้าทอมือแห่งลุ่มน้ำโขง ชูความยิ่งใหญ่ตระการตาของงานผ้า พร้อมด้วยกิจกรรมความบันเทิงครบครัน เต็มศักยภาพการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2561ณ สนามทุ่งศรีเมืองจังหวัดอุดรธานี
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที 12 ยุทธศาสตร์ที่ 9 การพัฒนาภาคเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ มุ่งเน้นการสร้างเข้มแข็งของฐานการผลิตและบริการใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมควบคู่ไปด้วยกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญกับของการพัฒนา คือ “เพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจนสู่เป้าหมายการพึ่งพาตนเอง”และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประเพณีวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รวมถึงการการยกมาตรฐานสินค้ากลุ่มผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าย้อมคราม และส่งเสริมพื้นที่ที่มีศักยภาพให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางแฟชั่นในระดับภูมิภาค
จังหวัดอุดรธานี และกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน จึงจัดงาน “มหกรรมผ้าทอมือ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง : GMS Fabric Expo 2018” ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Colorful Fabric Life : อลังการสีสันผ้าทอมือแห่งลุ่มน้ำโขง ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงเส้นสายลายผ้า ซึ่งเชื่อมโยงสีสันแห่งวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรม ถักทอ ร้อยเรียงกันจากทั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีนตอนใต้(ยูนนาน) สปป.ลาว เมียนมาร์ ไทย และ เวียดนาม ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ เป็นงานในระดับนานาชาติที่ประเทศไทย โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเจ้าภาพร่วมกัน เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติข้างต้นและนโยบายของรัฐบาล เรื่อง การเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ (Local Economy) ภายใต้โครงการยกระดับการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลาง การออกแบบ และการค้าขาย อย่างครบวงจร
กิจกรรมที่น่าสนใจภายในงาน ประกอบด้วย
• สีสัน นิทรรศการตระการตา ประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ,นิทรรศการอารยธรรมและนวัตกรรมผ้าอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) และภาคอีสาน พร้อมด้วยกิจกรรมเสวนาจากกูรูผ้าและงานออกแบบ ตลอดจนเวทีเจรจาจับคู่ธรกิจที่มีความน่าสนใจ เชื่อมโยงผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ
• สีสัน ขบวน Carnival อันยิ่งใหญ่ อลังการหาชมยาก สื่อความหมายถึงแหล่งอารยธรรมผ้าอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและภาคอีสาน เชื่อมโยงต้นกำเนิดอารยธรรมผ้าของมรดกโลก และวิวัฒนาการด้านผ้าจากอดีตจวบจนปัจจุบัน จัดแบ่งเป็น 4 ขบวนยิ่งใหญ่ ประกอบด้วย 1.ขบวนดุริยางค์ 2.ขบวนสื่อความหมาย “อารยะผ้าทอพื้นเมืองกับวิถีชีวิตอีสาน”3. ขบวนแห่ “อารยะผ้าทอมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับศรัทธาแห่งสายน้ำนานาชาติ นาคี นาคา” 4.ขบวน “ผ้าทอมือ วัฒนธรรมร่วมสมัย นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์” สร้างสีสัน อัดแน่นด้วยแสง สี เสียง และผู้ร่วมขบวนกว่า 780 คน ซึ่งขบวน Carnival ที่จัดขึ้นนี้ ถือเป็นไฮไลท์ที่สำคัญมากของงาน สร้างความฮือฮา ให้ท้องถนนทุ่งสีเมืองเต็มไปด้วยความตระการตา ทั้งจากเสียงดนตรีเอกลักษณ์ภาคอีสานที่สนุกสนาน การแต่งกายที่มีสีสัน เรียกได้ว่าเป็นขบวนคาร์นิวัลที่ไม่แพ้เทศกาลในต่างประเทศอย่างแน่นอน
• สีสัน การประกวดแฟชั่นโชว์เก๋ไก๋ ไทยแลนด์ 4.0 และกลุ่มขบวนแห่แฟนซีด้วยผ้าทอพื้นเมืองด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ อาทิ กิจกรรมการประกวดหนูน้อยผ้าทอมือแห่งลุ่มน้ำโขง ,การประกวดการออกแบบชุดแต่งกายผ้าพื้นเมืองหรือผ้าประจำถิ่น –เทพบุตร เทพธิดา ผ้าทอมือ ,การประกวดผ้าอนุรักษ์ ฯลฯ
• สีสัน ผลิตภัณฑ์จากไทยและต่างประเทศ ชวนชม ชวนชิล ชวนชอป ผลิตภัณฑ์โดดเด่นจากผู้ประกอบการ รวมของดี ของเด่น ไว้ในที่เดียว ทั้งผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญา ตลอดจน อาหารนานาชาติ และ Street Food
• สีสัน แสง เสียง และการตกแต่ง ยิ่งใหญ่ สะท้อนเอกลักษณ์ของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พร้อมด้วย Landmark “คุณทองโบราณ” สื่อถึงอารยะธรรมทางประวัติศาสตร์ของภาคอีสาน และการตกแต่งสุดยิ่งใหญ่ จำลองวิถีชีวิต และสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นของประเทศ GMS ไว้ในที่เดียว
• สีสัน ความสนุกสนานจากศิลปินที่มีชื่อเสียง และกิจกรรมการแสดงสร้างรอยยิ้ม อาทิ ฝน ธนสุนทร ,ตุ๊กกี้ ย้อนยุค HARD ROCK อุดรธานี แหลม มอริสัน และ วงV.I.P สลับมาร่วมสร้างความสนุกสนานตลอดงาน
นอกจากนี้แล้ว จังหวัดอุดรธานีได้เพิ่มเติมกิจกรรมสำคัญ เข้าไปในการจัดงานครั้งนี้ อีก 2 เรื่อง เพื่อให้เกิดการต่อยอดจากการจัดงานมหกรรมผ้าทอมือฯ ในครั้งนี้ ได้แก่ 1. ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและแสดงนิทรรศการ หรือ TCEB (ทีเส็ป) ในการเชิญผู้ค้าและผู้ประกอบการชั้นนำในระดับประเทศกว่า 15 ราย มาร่วมเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการและผู้ผลิตผ้าของกลุ่มจังหวัดในภาคอีสาน โดยทางทีเส็ป ได้ร่วมกับกลุ่มจังหวัดทั้ง 5 กลุ่มจังหวัด ในการคัดเลือกกลุ่มที่มีศักยภาพสูง จำนวน 30 กลุ่ม ทั่วทั้งภาคอีสาน มาทำการอบรมการเจรจาธุรกิจ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ก่อนที่จะมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจกันจริงๆ ในช่วงของการจัดงาน ในวันที่ 1 มีนาคม 2561 อีกด้วย ซึ่งคาดหมายว่า จะสามารถสร้างมูลค่าการเจรจาการธุรกิจ ได้เป็นจำนวนมาก
2. จังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน ทั้ง 5 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ กลุ่มจังหวัดสบายดี กลุ่มจังหวัดสนุก กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ และกลุ่มจังหวัดราชธานีศรีโสธร จะได้มีการลงนาม MOU ความร่วมมือ กับหน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพนานาชาติ สถาบันสิ่งทอ สำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นต้น เพื่อวางแนวทาง การพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมืองและการทำการตลาดร่วมกัน รวมถึงการบูรณาการเข้ากับการส่งเสริมการท่องเที่ยว ของกลุ่มจังหวัดในภาคอีสาน ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสร้างพลังทางด้านการยกระดับผลิตภัณฑ์ และการแสวงหาตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้กับผู้ประกอบการผ้าและชาวอีสาน ได้อีกมากทีเดียว
การจัดงานในครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะเกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมืองตามแนวทางความคิดสร้างสรรค์ การเพิ่ม และรายได้ให้แก่ประชาชนและกลุ่มผู้ผลิตผ้าพื้นเมืองของจังหวัดอุดรธานีและภาคอีสาน ตลอดจนเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาระหว่างกัน เชื่อมความสัมพันธ์อันดี ระหว่างกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 อย่างได้ผล เชิญชวนผู้ที่สนใจเที่ยวชมงาน “มหกรรมผ้าทอมือ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง : GMS Fabric Expo 2018” วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2561 ณ สนามทุ่งศรีเมืองจังหวัดอุดรธานี