จูไห่ ผงาดขึ้นเป็นฮับแห่งใหม่ หลังเปิดสะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า อย่างเป็นทางการ

0
252
image_pdfimage_printPrint

สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของท่าเรือกงเป่ยในเมืองจูไห่ ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งทางตอนใต้ของจีน โดยตั้งตระหง่านสูงเด่นเป็นสง่าอยู่เหนือแม่น้ำหลิงติงหยาง สะพานแห่งนี้จะย่นระยะเวลาการสัญจรไปมาระหว่างทั้งสามเมืองให้เหลือเพียงครึ่งชั่วโมง ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเคลื่อนย้ายผู้คน ยานพาหนะ เงินทุน และข้อมูล

สะพานแห่งนี้ถือเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์แห่งศตวรรษ โดยเปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 ตุลาคม หลังจากที่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ได้เป็นประธานในพิธีเปิดสะพานที่เมืองจูไห่ หนึ่งวันก่อนหน้านั้น ทั้งนี้ จูไห่เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และยังเป็นศูนย์กลางสำหรับเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area) เนื่องจากเป็นพื้นที่เดียวที่มีถนนเชื่อมต่อจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งสอง และการเปิดสะพานในครั้งนี้ ก็นับเป็นอีกครั้งที่จูไห่ดึงดูดความสนใจอย่างมากจากทุกภาคส่วน

นาย Yu Lie รองผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ระบุว่า สะพานแห่งนี้สามารถย่นระยะเวลาการเดินทางระหว่างเมืองทั้งสามได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน จากเดิมที่เคยใช้เวลาในการเดินทางทางน้ำประมาณ 1 ชั่วโมง และเดินทางทางบกจากจูไห่ไปฮ่องกงเกิน 3 ชั่วโมง แต่ตอนนี้ การเดินทางดังกล่าวใช้เวลาเพียง 30 นาที ด้วยเหตุนี้ จูไห่ จึงเปรียบดั่งประตูยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน

โครงการแลนด์มาร์คดังกล่าวจะช่วยยกระดับการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานภายในเขตอ่าว Greater Bay Area โดยสะพานที่มีความยาว 55 กิโลเมตรแห่งนี้ ถือเป็นงานก่อสร้างสะพานข้ามทะเลแห่งแรกโดยความร่วมมือระหว่างกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า ซึ่งได้เชื่อมฮ่องกงเข้ากับจีนตะวันออก และเชื่อมจูไห่และมาเก๊าเข้ากับจีนตะวันตก “ความพยายามในการสร้างสะพานแห่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าเมืองต่างๆ สามารถเสริมสร้างความได้เปรียบซึ่งกันและกัน ตลอดจนสนับสนุนผลประโยชน์ระหว่างกัน และส่งเสริมความร่วมมือในแบบที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ สะพานแห่งนี้จึงจัดได้ว่าเป็นฮับแห่งสำคัญที่เชื่อมระหว่างพื้นที่ฝั่งตะวันออกและตะวันตกของเขตอ่าว Greater Bay Area” นาย Zhu Yongling หัวหน้าโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า กล่าว

ด้วยทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันยอดเยี่ยม จูไห่ก้าวแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ด้วยพันธกิจในการเพิ่มการเชื่อมต่อของโครงสร้างพื้นฐานในเขตอ่าว Greater Bay Area และปรับปรุงการรวมกลุ่มของตลาด นอกจากนี้ จูไห่ยังได้พยายามมองหาลู่ทางในการสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี และวางแผนพัฒนาระบบอุตสาหกรรมที่เกิดจากการพัฒนาร่วมกัน ดังนั้น เวลานี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีในการสร้างคุณค่าใหม่ในแง่ภูมิศาสตร์ และวางกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ในเขตอ่าว Greater Bay Area

แผนการด้านอุตสาหกรรมของรัฐบาลจูไห่ฉบับล่าสุดให้ความสำคัญอย่างกว้างขวางต่อความร่วมมือในอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เช่น บิ๊กดาต้า คลาวด์คอมพิวติ้ง และปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ตั้งแต่อุปกรณ์สมาร์ทกริด พลังงานใหม่ ชีวการแพทย์ และอุปกรณ์การแพทย์ ไปจนถึงการเงินข้ามพรมแดน การจัดงานแสดงสินค้าทางธุรกิจ และการท่องเที่ยวพักผ่อน ทั้งหมดนี้จึงเป็นเสาหลักในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่

ข้อมูลจาก Alphaliner ที่ปรึกษาด้านการขนส่งระดับโลก ระบุว่า ในปี 2560 ปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือจูไห่ เพิ่มขึ้น 37.3% สู่ระดับ 2.27 ล้านทีอียู ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 73 ของโลก และมีอัตราการเติบโตสูงสุดเป็นอันดับ 2

ในขณะที่แผนพัฒนาเขตอ่าว Greater Bay Area กำลังใกล้จะเป็นความจริง จูไห่โฉมใหม่ก็อยู่ในระหว่างการพัฒนาเช่นกัน โดยเน้นไปที่การสร้างนวัตกรรมร่วมกัน และการแลกเปลี่ยนกันอย่างเปิดกว้าง

นิคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (CLAC) ได้เริ่มต้นดำเนินการแล้ว และในระหว่างงาน CLAC Expo ได้มีการลงนามโครงการต่างๆ มากกว่า 70 โครงการ คิดเป็นมูลค่าสัญญารวม 468.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมจูไห่ขึ้นที่ฮ่องกงและอิสราเอล รวมทั้งยังมีความคืบหน้าในการพัฒนาโครงการยกระดับความร่วมมือจีน-อิสราเอล และสถาบันปัญญาประดิษฐ์จีน-เยอรมนี ทั้งนี้ จูไห่ ในฐานะเมืองสำคัญในโครงการ Belt and Road Initiative มีความมุ่งมั่นต่อการเตรียมโครงสร้างและระบบต่างๆ ให้พร้อมสำหรับรองรับความร่วมมือด้านธุรกิจ และการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในการเป็นศูนย์กลางของเส้นทางสายไหมทางทะเล

ข้อมูลสถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า จูไห่เป็นเมืองแนวหน้าของมณฑลกวางตุ้งในแง่ของอัตราการเติบโตของ GDP ซึ่งขยายตัวขึ้นถึง 8.7% แตะ 1.29941 แสนล้านหยวน (1.872 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561

เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วและยั่งยืนก็คือ จูไห่ได้พัฒนาระบบนิเวศและปรับปรุงการบริการของภาครัฐให้ทันสมัย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้จูไห่มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ จูไห่ยังคงเดินหน้าเพื่อที่จะก้าวไปสู่ความมั่งคั่ง โดยมุ่งเน้นไปที่การออกนวัตกรรมโดยอาศัยความร่วมมือจากทั่วโลก เพื่อเพิ่มความสามารถในการดึงดูดปัจจัยสำคัญต่าง ๆ เช่น เงินทุน เทคโนโลยี และคนเก่ง รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

“การเปิดใช้สะพานจะนำความเป็นไปได้ต่างๆ มาสู่จูไห่มากขึ้น เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า” Xiong Xiaoge หุ้นส่วนก่อตั้ง IDG Capital ซึ่งเป็นบริษัทการลงทุนชื่อดังระดับโลก กล่าว ทั้งนี้ จูไห่ มีแผนที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมในเชิงลึกร่วมกับฮ่องกงและมาเก๊า สำหรับสะพานแห่งนี้ เมื่อเปิดทำการแล้ว จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับจูไห่ในการสร้างเขตเศรษฐกิจโดยมีสะพานเป็นศูนย์กลาง และจะช่วยเร่งผลักดันความคืบหน้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรมกวางตุ้ง-มาเก๊า รวมถึงโครงการสวนบ่มเพาะอุตสาหกรรมจูไห่-ฮ่องกง-มาเก๊า เพื่อผลลัพธ์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“ผมต้องการทำงานภายในเขตอ่าว Greater Bay Area เนื่องจากการเดินทางระหว่างสามเมืองนี้มีความสะดวกสบายขึ้นมาก” Lu Zhenhao บัณฑิตชาวมาเก๊าจากมหาวิทยาลัยจี้หนาน กล่าว พร้อมเสริมด้วยว่า มีการออกนโยบายและมาตรการใหม่ ๆ รวมถึงการยกเลิกใบอนุญาตจ้างงาน ซึ่งทำให้คนรุ่นใหม่จากมาเก๊าได้รับโอกาสในการพัฒนาที่ดีขึ้น

หากได้เดินชมเขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคจูไห่ในวันนี้ บางคนอาจรู้สึกประหลาดใจที่ได้เห็นพื้นที่ที่รวมบริษัทไฮเทคมากถึงกว่า 7,000 แห่ง ซึ่งในระหว่างการสร้างเขตสาธิตนวัตกรรมอิสระแห่งชาตินั้น พื้นที่แห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองด้วยนวัตกรรม โดยเป็นช่องทางให้ทรัพยากรต่าง ๆ ได้หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทค

“สิ่งที่จูไห่ได้รับจากการเปิดใช้สะพานแห่งนี้ก็คือ การได้เปิดหูเปิดตา และโอกาสที่มากขึ้น” Lin Jiang ศาสตราจารย์สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ที่วิทยาลัยหลิงหนาน มหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น กล่าว “การใช้ประโยน์จากความได้เปรียบที่มีอย่างเต็มที่ ทำให้เมืองจูไห่สามารถประสานการพัฒนาเมืองต่างๆ บนแม่น้ำไข่มุก (Pearl River) ฝั่งตะวันออก อีกทั้งยังสามารถจับคู่การบริการทางการเงิน การผลิต และวัฒนธรรมได้อีกด้วย ความพยายามทั้งหมดนี้จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของศูนย์กลางเศรษฐกิจ”

ที่มา: The People’s Government of Zhuhai Municipality