1

จีนผลักดัน “อุตสาหกรรมชากุ้ยโจว” ขึ้นแท่นเสาหลักดึงรายได้เข้าประเทศ

มณฑลกุ้ยโจว หนึ่งในแหล่งผลิตชาคุณภาพเยี่ยมขนาดใหญ่ที่สุดของจีน กำลังยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมชาให้เป็นช่องทางหลักในการสร้างรายได้ บรรเทาปัญหาความยากจนของประชากรในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาค ด้วยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการปลูกชา ไม่ว่าจะเป็นผืนดินอันกว้างใหญ่ซึ่งมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ มีปริมาณความชื้นมาก กอปรกับแสงแดดที่ไม่รุนแรงจนเกินไป และระดับความสูงที่พอเหมาะ ล้วนเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เทศมณฑลเหมยถาน, เฟิ่งกาง, หยูชิ่ง และเทศมณฑลอื่นๆแห่งมณฑลกุ้ยโจวเป็นหนึ่งในพื้นที่ปลูกชาที่ดีที่สุดของจีน

นายหลี่ เซี่ย ผู้ว่าการเทศมณฑลเหมยถาน มณฑลกุ้ยโจว เปิดเผยว่า ปี 2560 ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จีนจะปฏิรูปโครงสร้างอุปทานและวางรากฐานให้กับอุตสาหกรรมชา โดยรัฐบาลกลางของจีนตั้งเป้าที่จะผลักดันมณฑลกุ้ยโจวให้เดินหน้าบูรณาการอุตสาหกรรมชา พร้อมส่งเสริมให้บรรดาผู้ประกอบการยกระดับมาตรฐานการผลิตชา ผ่านการจัดประชุมระดับสูง รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในเหมยถาน อันเป็นแหล่งปลูกชาที่สำคัญของจีน

ทั้งนี้ มหกรรม Guizhou Tea Expo 2017 ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้ซื้อชารายใหญ่ของจีน ได้เปิดฉากขึ้นในช่วงสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมชาของจีน งานนี้สามารถดึงดูดผู้ซื้อและผู้ค้าชารายใหญ่จากทั้งในและนอกประเทศเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง โดยนายหลิว เซิ่งอิน รองประธาน Guizhou Tea Alliance กล่าวว่า การที่รัฐบาลเข้าไปอุดหนุนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาขั้นตอนการผลิตชานั้น ช่วยให้ผู้ผลิตในท้องถิ่นสามารถส่งออกใบชาได้มากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยในปี 2559 สมาชิกของ Guizhou Tea Alliance ส่งออกใบชากว่า 50 ตันไปยังกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐนี้เองทำให้เขาคาดการณ์ว่าจะสามารถส่งออกใบชาได้มากถึง 150 ตันในปีนี้

“เหมยถานชุ่ยหยา” (Meitan Cui Ya) หรือใบอ่อนชาเขียวเหมยถาน เป็นผลิตภัณฑ์ชาที่ได้รับความนิยมในตลาดจีนอย่างมาก เนื่องจากมีสีเขียวสด รสชาติหวานละมุน รวมถึงมีส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพ ส่วนชาดำนั้นเป็นที่นิยมสำหรับตลาดส่งออก” นายเซิ่งอิน กล่าวในงาน Guizhou Tea Expo 2017

อุตสาหกรรมชาของหมู่บ้านเถียนป้า (Tianba Village) แห่งเทศมณฑลเฟิ่งกาง เป็นหนึ่งในเรื่องราวความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ภายใต้นโยบายของรัฐบาลจีน น.ส.เจิ้ง เสี่ยวซู ผู้จัดการของสหกรณ์การเกษตรในเฟิ่งกาง เปิดเผยว่า ความร่วมมือและการฝึกอบรมระหว่างเกษตรกรในท้องถิ่น ผู้ประกอบการ รวมถึงบริษัทต่าง ๆ ช่วยให้ชาในท้องถิ่นได้รับการรับรองคุณภาพจากสหภาพยุโรป (EU) ในปีนี้ โดยไร่ชาในหมู่บ้านแห่งนี้อยู่ภายใต้นโยบายการควบคุมสารกำจัดศัตรูพืชอย่างเข้มงวด เกษตรกรผู้ปลูกชาจะใช้กระดาษกาวสีเหลืองเพื่อดักแมลง และใช้สเปรย์ชีวภาพแทนยาฆ่าแมลง

สำหรับหมู่บ้าน Walnut Dam ซึ่งตั้งอยู่ในเทศมณฑลเหมยถานก็เป็นอีกหนึ่งโครงการนำร่องสาธิตตามนโยบายการพลิกฟื้นผืนดินในพื้นที่ชนบทของจีนที่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน นายเฉิน ถิงหมิน เลขานุการประจำหมู่บ้าน Walnut Dam เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางหมู่บ้านรับนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ชาวบ้านและเกษตรกรต่างเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เป็นกอบเป็นกำ โดยรายได้รวมของเกษตรกรผู้ปลูกชาเพิ่มขึ้นจาก 5,000 หยวนต่อปีเป็น 16,000 หยวนต่อปี นอกจากนี้ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้านและการที่ชาวบ้านมีอิสระในการเลือกวิถีชีวิตของตนเองยังเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของนโยบายดังกล่าวด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ:
Zunyi City Tea Industry Center
โทร. +86-13885237808