1

จิตแพทย์กว่าพันคนเข้าร่วมการประชุมออนไลน์ Asia Pacific Psychiatry Symposium ครั้งที่ 2

ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับเป้าหมายใหม่ในการรักษาโรคจิตเภท รวมถึงความท้าทายในการวินิจฉัยและรักษาโรคอารมณ์สองขั้ว (ไบโพลาร์)

การประชุม Asia Pacific Psychiatry Symposium ครั้งที่ 2 ได้จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์โดยบริษัท Luye Pharma Group เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 โดยจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญกว่า 1,000 คน จาก 9 ประเทศและดินแดน เช่น จีนแผ่นดินใหญ่ มาเลเซีย เกาหลี สิงคโปร์ และไทย ได้มาร่วมประชุมผ่านระบบคลาวด์เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความก้าวหน้าล่าสุดในการรักษาความผิดปกติทางจิตใจ รวมถึงการวินิจฉัยทางคลินิก กลยุทธ์ในการรักษา และความท้าทายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

Dr. Lo Tak Lam ศาสตราจารย์ภาควิชาจิตเวช มหาวิทยาลัยฮ่องกง และประธานสมาคมสุขภาพจิตแห่งฮ่องกง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยมีจิตแพทย์จากเกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง ไทย และมาเลเซีย ร่วมบรรยายภายในการประชุม

ความผิดปกติทางจิตใจมีอัตราความชุกของโรคและอัตราการกำเริบของโรคสูง จึงเป็นปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญในแวดวงสาธารณสุขโลก องค์การอนามัยโลกระบุว่า ประชากรโลกเกือบ 1 พันล้านคนมีความผิดปกติทางจิตใจ และมีคนฆ่าตัวตายหนึ่งคนทุก ๆ 40 วินาที โดยเฉพาะในขณะนี้ ประชากรโลกหลายพันล้านคนกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยิ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนในสังคม ทั้งนี้ ในบรรดาความผิดปกติทางจิตใจนั้น โรคจิตเภททำให้ผู้ป่วยกลายเป็นบุคคลไร้ความสามารถมากที่สุด โดยผู้ป่วยโรคจิตเภทมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า ขณะที่ผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้ว (ไบโพลาร์) มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่าหากไม่ได้รับการรักษา โรคเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบที่รุนแรง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงกับผู้ป่วย คนในครอบครัว และสังคมโดยรวม

หัวข้อหลักของการประชุมในปีนี้คือโรคจิตเภทและโรคอารมณ์สองขั้ว ประกอบด้วยการอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ยารักษาโรคจิตเภท ข้อดีและข้อเสียของการใช้ยาต้านอาการทางจิตรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภทในระยะยาว แนวทางปฏิบัติในการรักษาโรคอารมณ์สองขั้ว รวมถึงอุปสรรคในการวินิจฉัยและรักษาโรคอารมณ์สองขั้วและวิธีแก้ปัญหา โดยผู้เข้าร่วมการประชุมต่างอภิปรายในแต่ละประเด็นอย่างจริงจัง

โรคจิตเภท: สำรวจเป้าหมายใหม่ในการพัฒนายาด้วยแนวทางสหวิทยาการ

ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมการประชุมได้อภิปรายเกี่ยวกับประเด็นร้อนแรงในแวดวงวิชาการ และแลกเปลี่ยนสิ่งที่ค้นพบจากการศึกษาแบบสหวิทยาการ เช่น ศักยภาพในการพัฒนายาในสาขาจิตเวชและประสาทวิทยา รวมถึงเป้าหมายใหม่และกลไกการออกฤทธิ์ของยา โดยมีเป้าหมายในการนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ เพื่อช่วยจิตแพทย์ในการพัฒนายาชนิดใหม่ที่นอกเหนือไปจากยาที่กระตุ้นตัวรับ Dopamine-2 และ 5-HT2 นอกจากนี้ ในแง่ของความต้องการด้านการรักษาโรคจิตเภท ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีวิธีการรักษาใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น การบรรเทาอาการเชิงลบและการยกระดับการรักษาอาการสมองเสื่อม ผู้เข้าร่วมการประชุมได้สำรวจและวิเคราะห์เป้าหมายการรักษาของยาใหม่ ๆ และความเป็นไปได้ในการคิดค้นวิธีการรักษาใหม่ ๆ

ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากการศึกษาสหวิทยาการ ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำแก่จิตแพทย์รุ่นใหม่ว่าประสาทชีววิทยาเป็นสาขาวิชาที่ควรค่าแก่การศึกษา เพราะมีศักยภาพในการยกระดับการพัฒนายาใหม่ การวินิจฉัยทางคลินิก และการรักษาความผิดปกติทางจิตใจต่อไปในอนาคต

ข้อดีและข้อเสียของการใช้ยาต้านอาการทางจิตรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภทในระยะยาว เป็นประเด็นมีการถกเถียงกันในแง่ของการปฏิบัติเชิงคลินิก ในการประชุมจึงมีการอภิปรายในประเด็นนี้ และมีการแนะนำวิธีการรักษาที่สอดคล้องกันด้วย

โรคอารมณ์สองขั้ว: ลดการวินิจฉัยผิดพลาดและการตรวจไม่พบโรคด้วยการประเมินหลายปัจจัย

การแสดงอาการของโรคอารมณ์สองขั้วมีความซับซ้อนและหลากหลาย เนื่องจากอาการของโรคนี้มีความผันผวนแปรปรวนมาก จึงทำให้มีโอกาสวินิจฉัยผิดพลาดเป็นโรคอื่น เช่น โรคซึมเศร้า ทั้งนี้ โรคอารมณ์สองขั้วมีอัตราการวินิจฉัยผิดพลาด การตรวจไม่พบโรค และการเกิดโรคร่วมในระดับสูง ทั้งยังมีความท้าทายอย่างมากในการรักษา ซึ่งล้วนเป็นปัญหาใหญ่ของโรคนี้

ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมการประชุมระบุว่า โรคอารมณ์สองขั้วเป็นโรคเรื้อรังที่อาจมีอาการบรรเทาและกำเริบสลับกันไปตลอดเวลา ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ และในการออกแบบแนวทางการรักษาจำเป็นต้องมีการประเมินปัจจัยรอบด้าน ซึ่งรวมถึงอาการและการดำเนินของโรค ชนิดของโรค ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย ความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรง ประสิทธิผลของยาและการตอบสนองต่อยา การปฏิบัติตามแนวทางการรักษาของผู้ป่วย และประวัติการรักษาของผู้ป่วย นอกจากนี้ สำหรับโรคอารมณ์สองขั้วบางชนิด ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำให้ใช้ยาสำหรับการรักษาแบบทางเลือกอันดับแรก อันดับสอง และอันดับสามตามลำดับ และระบุว่ายา Quetiapine เป็นหนึ่งในทางเลือกการรักษาสำหรับโรคทางอารมณ์ทุกประเภท

Luye Pharma: มีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางการรักษาโรคระบบประสาทส่วนกลาง ตลอดจนให้การสนับสนุนแพทย์และผู้ป่วย

การประชุม Asia Pacific Psychiatry Symposium จัดขึ้นเป็นปีที่สอง โดยมุ่งเน้นแนวทางการพัฒนาเชิงปฏิบัติและเชิงนวัตกรรม ทั้งยังเป็นเวทีวิชาการสำหรับนำเสนอความก้าวหน้าในการรักษาความผิดปกติทางจิตใจและแนวทางปฏิบัติเชิงคลินิก เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว การประชุมปีนี้มีผู้เข้าร่วมมากขึ้น ครอบคลุมประเทศและดินแดนต่าง ๆ มากขึ้น มีอิทธิพลมากขึ้น และได้รับความสนใจจากคนในวงการมากขึ้น

บริษัท Luye Pharma ซึ่งเป็นผู้จัดการประชุม มีบทบาทในแวดวงการรักษาโรคระบบประสาทส่วนกลางมาเป็นเวลานาน โดยนอกจากจะผลิตยาใหม่ที่มีคุณภาพสูงแล้ว บริษัทยังให้การสนับสนุนและบริการระดับมืออาชีพแก่แพทย์และผู้ป่วย Luye Pharma มุ่งหวังที่จะทำให้การประชุมนี้มีความมั่นคง เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการต่อไป ตลอดจนร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านระบบประสาทส่วนกลาง เพื่อผลักดันความก้าวหน้าของการวินิจฉัยและการรักษาในสาขานี้

โรคระบบประสาทส่วนกลางเป็นหนึ่งในสาขาที่ Luye Pharma ให้ความสำคัญ โดยบริษัทมีผลิตภัณฑ์ยาใหม่ครอบคลุมการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคจิตเภท โรคอารมณ์สองขั้ว โรคซึมเศร้า โรคพาร์กินสัน และโรคอัลไซเมอร์ ปัจจุบัน บริษัทมียาใหม่หลายตัวที่อยู่ในขั้นตอนของการทดลองทางคลินิกขั้นสุดท้ายหรือขั้นตอนการขึ้นทะเบียนยาใหม่ในหลายประเทศและดินแดน ซึ่งรวมถึงในสหรัฐอเมริกาและยุโรป และบริษัทมุ่งหวังว่าผู้ป่วยทั่วโลกจะได้ประโยชน์จากยาเหล่านี้ในไม่ช้า ทั้งนี้ บริษัทผลิตยารักษาโรคระบบประสาทส่วนกลางออกมาแล้วหลายตัว ซึ่งจำหน่ายในกว่า 80 ประเทศและดินแดนทั่วโลก