จังหวัดลำพูน โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน ประสานความร่วมมือเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545และที่แก้ไขเพิ่มเติม ร่วมกับสถานประกอบกิจการ จำนวน 90 คน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน มอบหมายให้ นายชาตรี กิตติธนดิตถ์ นายอำเภอเมืองลำพูน รักษาราชการแทนปลัดจังหวัดลำพูน เป็นประธานในพิธีเปิด ในเวลา 9.30 น.วันศุกร์ ที่ 13 ธันวาคม 2562 ณ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน หลังจากนั้นได้มอบเงินอุดหนุนให้กับสถานประกอบกิจการ 19 แห่ง เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 804,800 บาท และ สถานประกอบกิจการ ที่สามารถสร้างมาตรฐานฝีมือแรงงานของตน 1 แห่ง ได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท
นางณฐมน ปัทมะสุคนธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูนกล่าวว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับลูกจ้าง และบุคคลทั่วไป เพื่อตอบสนองการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกำหนดสิทธิประโยชน์ไว้เพื่อเป็นการจูงใจสถานประกอบกิจการให้เข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จึงมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 เพิ่มบทบัญญัติ เพื่อกำหนดให้การประกอบอาชีพ ในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานใดที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ หรือต้องดำเนินการโดยผู้มีความรู้ ความสามารถที่ได้รับการรับรองความรู้ความสามารถ ดังนั้นกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ให้ทุกจังหวัดสร้างการรับรู้ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานฯ ด้วยหน่วยงานภาครัฐ สถานประกอบกิจการ และพนักงาน มีส่วนสำคัญในการพัฒนา องค์กร เศรษฐกิจ และสังคม โดยภาครัฐเป็นส่วนสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนาพนักงาน สถานประกอบกิจการได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี และเงินอุดหนุน สามารถเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ลดความสูญเสียในกระบวนการผลิต และพนักงานที่มีความรู้ ทักษะฝีมือ มีทัศนคติที่ดีและ มีมาตรฐานในการทำงาน ตลอดจนได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 มีสถานประกอบกิจการของจังหวัดลำพูน ได้รับการส่งเสริมตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 จำนวน 89 แห่ง มีพนักงานได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงานจำนวน 45,788 คน และในจำนวนดังกล่าวมีสถานประกอบกิจการที่พัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้างในปีที่ผ่านมา เกินกว่าร้อยละ 70 ของลูกจ้างทั้งหมด ได้รับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน 200 บาทต่อหัว 19 แห่ง เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 804,800 บาท และสามารถสร้างมาตรฐานฝีมือแรงงาน และนำไปใช้ทดสอบให้กับลูกจ้างของตน เพื่อกำหนดค่าจ้าง ได้รับเงินอุดหนุนเป็นเงิน 10,000 บาท จำนวน 1 แห่ง