ความใฝ่ฝันของคุณแม่ทุกคนคือการคลอดเจ้าตัวน้อยออกมาสมบูรณ์แข็งแรง ดังนั้นหนึ่งในคำถามที่หลายคนสงสัยกันมากคือ หากคุณแม่เป็นโรคลิ้นหัวใจสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่ระดับความรุนแรงของโรคลิ้นหัวใจที่คุณแม่ต้องเผชิญ
นายแพทย์วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล รองผู้อำนวยการศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวถึง สำหรับผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์และอยากตั้งครรภ์ หากผู้ป่วยรู้ว่าตนเองเป็นโรคลิ้นหัวใจแล้วยังไม่ได้ตั้งครรภ์ แนะนำว่าให้ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจก่อนตั้งครรภ์ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจมีให้เลือกใช้หลายชนิด หลักๆ มี 2 แบบคือ ลิ้นหัวใจสังเคราะห์ที่ทำจากโลหะ ที่ต้องทานยาละลายลิ่มเลือดไปตลอดชีวิตอาจส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์และอาจทำให้เด็กพิการได้ และลิ้นหัวใจที่ทำจากเนื้อเยื่อ ต้องทานยาละลายลิ่มเลือดประมาณ 3 เดือนแล้วไม่จำเป็นต้องทานอีกต่อไป แต่อายุการใช้งานของลิ้นหัวใจชนิดเนื้อเยื่อมีประมาณ 10 ปี ดังนั้นถ้าหากลิ้นหัวใจเสื่อม ลิ้นหัวใจรั่ว หรือลิ้นหัวใจตีบเกิดขึ้นอีก ต้องกลับมาผ่าตัดแก้ไขใหม่ แต่หากตั้งครรภ์แล้วพบว่าตนเองเป็นโรคลิ้นหัวใจจะต้องพิจารณาระดับความรุนแรงด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ ถ้าความรุนแรงไม่มากสามารถดูแลครรภ์อย่างใกล้ชิดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ถ้าหากอยู่ในระดับที่รุนแรงมากจะต้องพิจารณาจากอายุครรภ์ ถ้าเพิ่งตั้งครรภ์ในช่วง 2-3 เดือนแรก แพทย์อาจยุติการตั้งครรภ์ด้วยการขูดมดลูก แต่ถ้าตั้งครรภ์ไปแล้วประมาณ 5 เดือน แพทย์จะดูแลและให้ยาเพื่อประคับประคองอาการจนเด็กโตพอสมควรคือประมาณ 36 สัปดาห์แล้วจึงทำการผ่าคลอด โดยแพทย์จะบอกถึงความเสี่ยงที่คุณแม่ต้องพบ เช่น การแท้งบุตร เด็กเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์ เป็นต้น
ระดับความรุนแรงของโรคลิ้นหัวใจที่พบในคุณแม่ สามารถดูได้จากอาการที่ปรากฏเป็นหลัก เรียกว่า Functional Class แบ่งออกเป็น 4 แบบ ได้แก่ Class 1 สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติโดยไม่มีอาการอ่อนเพลีย หอบเหนื่อย ใจสั่น อาการแน่นหน้าอก Class 2 ขณะทำกิจกรรมหรือออกกำลังมากขึ้นจะเริ่มเหนื่อย ใจสั่น หรือแน่นหน้าอก Class 3 ขณะทำกิจกรรมตามปกติแม้เพียงเล็กน้อยจะเริ่มเหนื่อย ใจสั่น หรือ แน่นหน้าอก เช่น การขึ้นบันไดเพียง 2 ชั้นก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว และ Class 4 แม้ขณะนั่งเฉยๆ หรือนั่งพักจะมีอาการหอบเหนื่อย ใจสั่น หรือแน่นหน้าอก จากข้อมูลหากอยู่ใน Class 1 และ Class 2 ผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์ได้ แต่ระหว่างตั้งครรภ์ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากขณะตั้งครรภ์หัวใจคุณแม่จะสูบฉีดเลือด (Cardiac Output) เพิ่มขึ้นมากกว่าคนปกติถึง 40% เนื่องจากมีเจ้าตัวน้อยในครรภ์ โดยจะเริ่มตั้งแต่อายุครรภ์ 8 สัปดาห์และสูงสุดในช่วงกึ่งกลางการตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากคุณแม่ลิ้นหัวใจรั่วมากหรือตีบมากอยู่ใน Class 3 หรือ Class 4 ต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจทันทีเพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม หากคุณแม่ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจแล้วตั้งครรภ์ ถ้าเป็นลิ้นหัวใจที่ทำจากเนื้อเยื่อสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นลิ้นหัวใจสังเคราะห์ที่ทำจากโลหะอาจต้องหยุดทานยาละลายลิ่มเลือดแล้วเปลี่ยนไปใช้ยาฉีดตามที่แพทย์สั่ง
คุณผู้หญิงที่มีปัญหาโรคลิ้นหัวใจควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาความเสี่ยงการตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ การตรวจสุขภาพคุณแม่ก่อนตั้งครรภ์อย่างละเอียด การตรวจหัวใจและหลอดเลือดหัวใจจะช่วยให้คุณแม่สามารถวางแผนการมีเจ้าตัวน้อยได้เป็นอย่างดีและช่วยให้ทั้งคุณแม่คุณลูกมีหัวใจที่แข็งแรง รายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02-310-3000 หรือ Call center.1719