ไทยผงาดเจ้าภาพงานกล้วยไม้ระดับโลก
ประเทศไทย แสดงพลังผู้นำกล้วยไม้เขตร้อน เจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด กล้วยไม้แห่งมวลมนุษยชาติ ชี้โอกาสทองของไทยโชว์ความเป็นเลิศด้านกล้วยไม้สะกดสายตานานาชาติ รวมกูรูกล้วยไม้จากทั่วโลก 19 – 27 มีนาคมนี้ ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติเมืองทองธานี
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปี 2559 นี้ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “กล้วยไม้แห่งมวลมนุษยชาติ”ระหว่างวันที่ 19 – 27 มีนาคม 2559 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมครั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดการประชุม หลังจากที่ประเทศไทยเคยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 4 มาแล้วเมื่อปี 2535
การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ในหลายด้าน โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างประเทศผู้ผลิตและส่งออกกล้วยไม้ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุ์พืชกล้วยไม้ และพัฒนากล้วยไม้ในภูมิภาคอย่างยั่งยืน ได้รับทราบความก้าวหน้าและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิชาการและเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนางานวิจัยและพัฒนากล้วยไม้ของไทย รวมทั้งยังได้รับทราบทิศทางแนวโน้มความนิยมและความต้องการของตลาดกล้วยไม้ในระดับนานาชาติ เพื่อนำมากำหนดแผนยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนากล้วยไม้ของไทย โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกกล้วยไม้และผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลให้มีการเพิ่มมูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 19 ต่อปี ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกกล้วยไม้เขตร้อนอันดับ 1 ของโลก
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก เป็นการประชุมที่รวมนักกล้วยไม้จากทั่วโลก ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกล้วยไม้ทั้งหมดจาก 13 ประเทศ เป็นการแสดงให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่าประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านกล้วยไม้ ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้นอกจากจะมีการประชุมวิชาการโดยจะมีการบรรยายพิเศษจากผู้ที่มีชื่อเสียงและบทบาทสำคัญในวงการกล้วยไม้ระดับโลกแล้ว ยังมีกิจกรรมสำคัญที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่นการจัดแสดงนิทรรศการวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวนถึง 15 หน่วยงาน การประกวดจัดสวนกล้วยไม้ทั้งในประเทศและนานาชาติกว่า 90 สวน การประกวดกล้วยไม้กระถาง กล้วยไม้ตัดดอก การจัดกล้วยไม้ในภาชนะ แข่งขันจัดดอกกล้วยไม้ แข่งขันวาดภาพสีน้ำ การจำหน่ายสินค้ากล้วยไม้จากทั้งในประเทศและต่างประเทศและการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมจัดงาน
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีส่วนที่น่าสนใจที่ผู้เข้าร่วมชมงานไม่ควรพลาด ได้แก่การจัดแสดงกล้วยไม้พระนาม ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และจัดแสดงกล้วยไม้ที่ได้รับพระราชทานนาม 5 ชนิด คือ รักต สิริน ม่วงราชกุมารี เอื้องศรีประจิม เอื้องศรีอาคเนย์ และเอื้องศรีเชียงดาว พร้อมกันนี้ภายในงานยังได้กำหนดให้กล้วยไม้ 3 ชนิดของไทยเป็นกล้วยไม้ไฮไลท์ภายในงาน คือ แวนด้าบลู เหลืองจันทบูร และเข็มแสด ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่มีความสวยงามและมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว และออกดอกในช่วงระยะเวลานี้ให้ได้ชมภายในงานด้วย
“เมื่อเข้าไปในงานนี้ทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้ได้ทุกขั้นตอนเกี่ยวกับการผลิตกล้วยไม้ ตั้งแต่การเตรียมพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา วัสดุที่ใช้ปลูก การเก็บเกี่ยว และเทคนิควิธีการที่จะทำให้กล้วยไม้คงคุณภาพได้ยาวนานที่สุด รวมทั้งการประชุมในครั้งนี้ยังจะเป็นเส้นทางที่นำไปสู่ธุรกิจการค้าที่ต่อเนื่อง การส่งออก ตลอดจนการแลกเปลี่ยนสายพันธุ์ระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมากในอนาคต” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว