งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมาเก๊า จบลงอย่างสวยงาม

0
574
image_pdfimage_printPrint

งานเทศกาลและประกาศรางวัลภาพยนตร์นานาชาติมาเก๊า ครั้งที่ 1 ประจำปี 2016 (1st International Film Festival & Awards Macao – IFFAM 2016) จบลงอย่างสวยงาม ด้วยภาพยนตร์เรื่อง Polina ของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส อองเฌอแลง เพรลโจกาจ และวาเลรี มุลเลอร์ ที่ฉายรอบปฐมทัศน์เป็นครั้งแรกในเอเชีย

งานเทศกาลภาพยนตร์จัดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมมาเก๊า ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่จัดงานหลักๆหลายแห่งของงาน IFFAM 2016 โดยมีจางกึนซอก ร่วมงานและมีทีมงานและนักแสดงเรื่อง Polina เดินทางมาร่วมงานนี้ด้วย ลูดี ลิน-ดาราเชื้อสายจีนแคนาดา ที่ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Power Rangers ภาคใหม่ก็มา เจสสิกา ช็อง-นักร้องนักแต่งเพลงและนักแสดงเชื้อสายเกาหลีอเมริกัน ก็มา สมทบด้วยดาราภาพยนตร์จากจีนแผ่นดินใหญ่ อย่างจางจิน ที่กำลังถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Pacific Rim: Maelstorm ซึ่งกำหนดจะออกฉายในปี 2018 ดาราฮ่องกง เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ตลอดจนตัวแทนจากงานเทศกาลภาพยนตร์โทรอนโตอย่างผู้กำกับฝ่ายศิลป์-แคเมอรอน เบลลีย์ งานเทศกาลภาพยนตร์ตะวันออกไกลประจำเอดินบะระ เทศกาลภาพยนตร์ปูซาน และเทศกาลภาพยนตร์รอตเทอร์ดาม ก็มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง

คณะกรรมการตัดสินภาพยนตร์ของ IFFAM 2016 ซึ่งมีทั้งสแตนลีย์ กวาน มากิโกะ วาตานาเบะ เชการ์ คาปูร์ จิโอวันนา ฟุลวี และจองอูซอง

IFFAM 2016 จัดฉายภาพยนตร์คุณภาพชั้นแนวหน้าของทั้งเอเชียและนานาชาติด้วยรายการ
– ภาพยนตร์เข้ารอบประกวด 12 เรื่อง
– ภาพยนตร์ฉายรอบกาล่า 3 เรื่อง
– ภาพยนตร์เอเชียแนวร่วมสมัย ในรอบ Hidden Dragon 9 เรื่อง
– ภาพยนตร์นานาชาติที่คัดเลือกโดยผู้กำกับชาวเอเชียตะวันออก 12 คน 12 เรื่อง ในรอบ Crossfire
– ภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติใหญ่ๆ 9 เรื่อง ในรอบ Best of Fest Panorama
– ภาพยนตร์ในรอบ Special Presentation ที่นำเสนอผลงานของผู้กำกับชาวสวิส คลีเมนส์ คลอปเฟนชไตน์ 2 เรื่อง และหนังสั้นของดาราเกาหลีใต้ ชังกึนซ็อก 2 เรื่อง
– ภาพยนตร์รอบ Hollywood Special Presentation ที่แฟนหนังจะได้ชมภาพยนตร์ต่างๆที่คาดว่าจะได้เข้าชิงออสการ์ เป็นครั้งแรก

– ภาพยนตร์รอบ Actress in Focus ที่นำเสนอผลงานการแสดง 3 เรื่องของดาราสาวชาวไต้หวัน กุ้ยหลุนเหม่ย์

งานเทศกาลและประกาศรางวัลภาพยนตร์นานาชาติมาเก๊า มุ่งมั่นที่จะผสมผสานวงการภาพยนตร์ท้องถิ่นและนานาชาติเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสรรค์โอกาสในการร่วมงานทั้งด้านศิลปวัฒนธรรมและธุรกิจ ตลอดจนขยายความรู้ความสนใจของผู้คนในมาเก๊าให้รู้จักประเภทและสไตล์ภาพยนตร์ที่มีอยู่หลากหลายทั่วโลกด้วย

ส่วนรายชื่อภาพยนตร์ที่น่าสนใจบางส่วน ในงานเทศกาล 6 วันที่มาเก๊า ได้แก่
1. Polina นำแสดงโดย อนาสตาเซีย เชฟโซวา ตัวเอกเป็นนักเรียนบัลเลต์มากพรสวรรค์ของโรงละครบัลเลต์บอลชอยที่เลื่องชื่อในกรุงมอสโก เธอฝึกบัลเลต์มาตั้งแต่เล็กเพื่อจะเป็นบัลเลรินาชั้นแนวหน้าของโลก แต่เมื่อเธอหลงรักการเต้นแนวร่วมสมัยที่เริงร่าและเพลิดเพลินกว่า โพลินาก็เลิกเต้นบัลเลต์ และมุ่งหน้าไปปารีส จูเลียต บิโนชก็แสดงในภาพยนตร์ชีวิตเปี่ยมสีสันเรื่องนี้ โดยมี อองเฌอแลง เพรลโจกาจ นักออกแบบท่าเต้นที่โด่งดังชาวฝรั่งเศส มากำกับการแสดงเป็นครั้งแรก
2. Antiporno ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจากค่ายนิกคัทสึของญี่ปุ่น ที่ปล่อยคลื่นหนังอีโรติกออกมาเป็นระลอก ฝีมือผู้กำกับสายโหด ซิอง โซโนะ (จากเรื่อง Tag และ The Virgin Psychics) เกี่ยวกับการตื่นรู้ถึงความกำหนัดในตัวเองของนักเขียนนิยายสาวไร้เดียงสา (นำแสดงโดยอามิ โทมิเตะ ดาราคู่บุญของโซโนะ) เธอติดอยู่ระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับฝันร้ายที่โลดโผน ก่อนหน้า Antiporno ค่ายนี้ก็มีภาพยนตร์เรื่อง Aroused by Gymnopedies และ Wet Woman in the Wind ซึ่งทั้งสองเรื่องได้เข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์เอเชียที่ฮ่องกงเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
3. Freefire โดยผู้กำกับเบน วีตลีย์ (จากเรื่อง High-Rise) ที่กำลังจะขึ้นแท่นเป็นผู้กำกับที่น่าจับตาที่สุดของอังกฤษ มาพร้อมหนังบู๊ระทึกขวัญเล่าเรื่องการค้าอาวุธที่มีเหตุสะดุดในช่วงทศวรรษ 1970 ที่บอสตัน นำแสดงโดยดาราดังอย่างบรี ลาร์สัน ซิลเลียน เมอร์ฟี อาร์มี แฮมเมอร์ และชาร์ลโต คอปลีย์ ในโครงการที่ใหญ่ที่สุดของวีตลีย์ อำนวยการสร้างโดยมาร์ติน สกอร์เซซี
4. The Girl with All the Gifts ออกฉายในช่วงเวลาเดียวกับหนังทำเงินอย่าง Train to Busan และ I Am a Hero หนังไซไฟระทึกขวัญจากอังกฤษเรื่องนี้จัดเป็นหนังซอมบี้ที่มากจินตนาการและนำเสนอมุมมองที่ต่างออกไป ได้เค้าโครงเรื่องจากนิยายของไมค์ แครี่ โดยภาพยนตร์เล่าถึงกลุ่มเด็กๆที่ได้รับเชื้อไวรัสมหาภัยที่คร่าชีวิตคนทั่วประเทศ แต่กลับดูเหมือนไม่เกิดอาการใดๆ เมื่อเด็กกลุ่มนี้หนีออกจากศูนย์ควบคุมของกองทัพ จึงถูกตามจับเพื่อนำกลับมาวิจัยหาวิธีรักษาอาการผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ให้ได้
5. Shining Moment ภาพยนตร์เรื่องนี้เพิ่งฉายเป็นครั้งแรกในรอบประกวดภาพยนตร์นานาชาติของเทศกาลนี้ ผลงานกำกับล่าสุดของฟรุต แชน จากฮ่องกง (ผู้กำกับเรื่อง The Midnight After) เป็นภาพยนตร์ชีวิตในจีนแผ่นดินใหญ่ เล่าเรื่องความอุตสาหะของนักยิมนาสติกที่ล้มเหลวอย่างหยู (แสดงโดยฮินส์ เฉิง) ที่ต้องการพลิกชีวิตตนเองด้วยการเป็นครูสอนเต้นละติน นักเรียนที่ดูไม่เข้าแก๊กการเต้นละตินในชั้นเรียนของเขา อาจไม่ส่องประกายในตอนแรก แต่หยูก็สอนพวกเขาจนเต้นได้ ซึ่งพาให้เขาหลุดพ้นจากปมในใจไปด้วย
6. Manchester by the Sea หนึ่งในภาพยนตร์ร้อนแรงที่น่าจะเข้าชิงออสการ์ของปีนี้ในหลายสาขา เล่าเรื่องชีวิตชนชั้นแรงงานที่เต็มไปด้วยความเศร้าโศกและการไถ่ถอนความรู้สึกผิด กำกับโดยเคนเนธ โลเนอร์แกน (จากเรื่อง You Can Count on Me) คาดกันด้วยว่านักแสดงนำอย่างเคซีย์ แอฟเฟล็ก (จากเรื่อง The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford) น้องชายของเบน แอฟเฟล็ก ก็อาจได้เข้าชิงรางวัลดารานำชายยอดเยี่ยมในบทของพ่อม่ายที่ยังปรับตัวไม่ได้ และต้องมาดูแลหลานชายวัยรุ่นอีก
7. Personal Shopper คริสเตน สจ๊วร์ต ที่ได้รับรางวัลเซซาร์ของฝรั่งเศส กลับมาร่วมงานกับผู้กำกับชาวฝรั่งเศส-โอลิวิเยร์ อัสซายาส (จากเรื่อง Clouds of Sils Maria) ในหนังลึกลับเขย่าขวัญที่ใช้วงการแฟชั่นเป็นฉาก สจ๊วร์ตรับบทเป็นผู้ช่วยของคนดังในฝรั่งเศสอีกครั้ง ในฐานะนักช็อปส่วนตัวที่ปารีส เธอเริ่มรับการติดต่อทางจิตจากโลกวิญญาณ ซึ่งอาจจะมาจากพี่น้องฝาแฝดชายของเธอที่เพิ่งเสียชีวิตไป
8. Sisterhood เป็นการฉายรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์มาเก๊า ภาพยนตร์ชีวิตฝีมือผู้กำกับเทรซี่ ชอย โดยเหลียงหย่งฉี (Gigi Leung) รับบทเป็นเซยะ ที่กลับมาเยือนมาเก๊า และพบว่าเมืองที่เธอเคยรู้จักแปรเปลี่ยนเป็นนครแสงสีแห่งการพนันไปแล้ว เมื่อเซยะแกะรอยเพื่อตามหาลูกชายของเพื่อน สิ่งที่พบเห็นรังแต่จะกระตุ้นให้เธอคิดถึงมาเก๊าในยุคทศวรรษ 1990 สมัยที่เธอยังทำงานนวดและช่วยดูแลลูกน้อยของเพื่อนราวกับว่าเด็กคนนั้นเป็นลูกของเธอเอง
9. Jackie นาตาลี พอร์ตแมน ทุ่มเทและฝากฝีมือจนทำให้เรื่องนี้ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นสุดยอดของชีวิตการแสดงของเธอเลยทีเดียว ทั้งยังมีสิทธิ์ลุ้นรางวัลออสการ์ตัวที่สอง ในฐานะแจ๊คกี้ เคนเนดี้ ภริยาม่ายของเจเอฟเค ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ถูกลอบสังหาร ภาพยนตร์เล่าเรื่องตามแนวการให้สัมภาษณ์ของแจ๊คกี้ในนิตยสารไลฟ์ รวมทั้งผลกระทบที่ติดตามมาหลังการถึงแก่อสัญกรรมของสามีเธอ ผู้กำกับชาวชิลี-พาโบล ลาร์เรน (จากเรื่อง No) สร้างสรรค์หนังชีวิตของผู้นำแฟชั่นสวยสง่า ที่เปลือกนอกอันแพรวพราวมีอันต้องแตกกระจายให้โลกเห็นตัวจริงของเธอ
10. Crossfire อันนี้ไม่ใช่หนัง แต่เป็นรอบฉายภาพยนตร์คลาสสิกของตะวันตกที่ให้แรงบันดาลใจแก่ผู้กำกับเอเชีย 12 คน แฟนๆจะได้ชมผู้กำกับเกาหลีใต้-คิมจีวูน (จากเรื่อง The Age of Shadows) มานำเสนอภาพยนตร์เรื่อง Les Diaboliques ของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส อองรี-ฌอร์จ กลูโซต์ หรือผู้กำกับชาวฮ่องกง ตู้ฉีฟง ยกย่องภาพยนตร์เรื่อง The Good, The Bad and The Ugly ของผู้กำกับชาวอิตาลี เซอร์จิโอ เลโอเน ทั้งยังได้ชมภาพยนตร์ทรงค่าเหล่านี้บนจอใหญ่ในระหว่างงานด้วย

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ www.iffamacao.com หรือ https://www.facebook.com/IFFAM2016/