งานวิจัยรักษาข้อเข่าด้วยสเต็มเซลล์ผู้ใหญ่ของไทยถูกคัดเลือกไปเวทีโลก

0
490
image_pdfimage_printPrint

ในปัจจุบันการเก็บสเต็มเซลล์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากสเต็มเซลล์ถือเป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่พร้อมจะเจริญเติบโต แบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ ต่างไปจากเซลล์ที่โตเต็มที่แล้วซึ่งจะทำหน้าที่เฉพาะของแต่ละอวัยวะนั้น ไม่สามารถเพิ่มจำนวนตัวเอง หรือเปลี่ยนรูปลักษณ์และการทำงานไปเป็นเซลล์ของอวัยวะอื่นได้อีก ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่มีเฉพาะในสเต็มเซลล์นี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์ทั่วโลกสนใจการเก็บสเต็มเซลล์เพื่อมาใช้รักษาโรคอีกมากมายแทนการรักษาในปัจจุบันที่ให้ผลไม่น่าพึงพอใจ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเก็บสำรองสเต็มเซลล์ไว้ก่อนการเจ็บป่วยที่อาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเก็บสเต็มเซลล์ตนเองได้ ล่าสุด แพทย์ไทยได้โชว์ศักยภาพในเวทีโลกอีกครั้ง โดยถูกเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยสำหรับงานวิจัยหัวข้อปัจจัยที่มีผลต่อการเก็บสเต็มเซลล์จากกระแสโลหิต และหัวข้อฟื้นฟูเข่าเสื่อมด้วยสเต็มเซล์ โดยโชว์ผลงานแนะแนวให้ความรู้ในงานประชุมประจำปีของสมาคมการบำบัดรักษาด้วยเซลล์นานาชาติ International Society for Cellular Therapy (ISCT 2017) ซึ่งนับเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจของแพทย์ไทยที่สามารถนำงานวิจัยมาต่อยอดการรักษาผู้ป่วยได้จริง

แพทย์หญิงวรัชยา ฟองศรัณย์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ บริษัท ไทย สเตมไลฟ์ จำกัด เปิดเผยว่า โดยส่วนใหญ่คนไทยจะรู้จักแต่การเก็บสเต็มเซลล์จากเลือดในรกและสายสะดือ น้อยคนนักที่จะทราบว่าในขณะนี้ในประเทศไทยได้มีวิวัฒนาการด้านการเก็บสเต็มเซลล์จากกระแสโลหิตหรือที่เรียกว่าเก็บสเต็มเซล์ในผู้ใหญ่ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายจากทั่วโลก แพทย์บางท่านได้เปรียบเซลล์มหัศจรรย์นี้เสมือน “อวัยวะสำรอง” ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสในการรักษาโรคที่สามารถใช้สเต็มเซลล์ของตัวเองมาใช้ของแต่ละบุคคล

อย่างไรก็ตาม การเก็บสเต็มเซลล์จากกระแสเลือดเป็นวิธีการเก็บสเต็มเซลล์แบบหนึ่ง เซลล์ที่ได้มีคุณสมบัติในการเพิ่มจำนวนและเจริญเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ ได้เช่นเดียวกับการเก็บสเต็มเซลล์จากเลือดในรกและสายสะดือ การเก็บสเต็มเซลล์เป็นการสำรองเผื่อสำหรับการรักษาโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่ไม่สามารถรักษาด้วยการใช้ยาหรือการผ่าตัด ไม่ใช่การป้องกันโรค โดยสเต็มเซลล์ที่ดีที่สุดในการใช้รักษาโรค คือสเต็มเซลล์ของตนเองที่เก็บก่อนการเกิดโรค เพราะโรคบางชนิดเป็นโรคของสเต็มเซลล์โดยตรง สเต็มเซลล์ของคนที่เป็นโรคแล้วนั้นไม่สามารถใช้สเต็มเซลล์ตนเองรักษาโรคได้ โรคที่สามารถรักษาด้วยสเต็มเซลล์มีหลากหลาย เปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าทางการแพทย์ อาทิเช่น โรคโลหิตจางชนิดธาลัสซีเมีย โรคไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทั้งยังมีวิวัฒนาการทางการแพทย์ทั่วโลกที่ศึกษาการรักษาโรคกลุ่มที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายด้วยสเต็มเซลล์ เช่น โรคของกระดูกอ่อนเสื่อม โรคข้อเสื่อมระยะต้น การบาดเจ็บข้อเข่าจากการเล่นกีฬา แผลเบาหวาน ฯลฯ

แพทย์หญิงวรัชยา ยังกล่าวถึงงานวิจัยข้อเข่าที่ได้รับคัดเลือกไปเผยแพร่ของสมาคมการบำบัดรักษาด้วยเซลล์นานาชาติ International Society for Cellular Therapy (ISCT 2017) ว่าเป็นงานวิจัยที่เปรียบเทียบกลุ่มคนที่ได้รับสเต็มเซลล์จำนวน 40 คน และกลุ่มคนที่ไม่ได้รับสเต็มเซลล์จำนวน 20 คน ว่ามีผลของอาการปวดที่แตกต่างกันอย่างไร งานวิจัยข้อเข่าดังกล่าวทำให้เห็นว่าคนไข้มีคุณภาพที่ดีกว่าอย่างชัดเจนเมื่อมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งในประเทศไทยได้มีการศึกษาเรื่องนี้มานานกว่า 5 ปี จนปัจจุบันหลายๆ ประเทศให้ความสนใจและเริ่มนำไปวิจัยกับคนไข้ของตนเอง จึงถือเป็นความภาคภูมิใจของทางบริษัทฯ ที่ได้เป็นศูนย์เอกชนแห่งแรกของประเทศไทยที่มีกระบวนการการเก็บสเต็มเซลล์ในกระแสโลหิต และนำไปสู่การต่อยอดงานวิจัยต่างๆ จนได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลกได้

# # #