งานประกาศรางวัล Young Thai Artist Award 2018 โดย มูลนิธิเอสซีจี รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เวทีสร้างคนศิลป์ ปั้นยุวศิลปินประดับวงการศิลปะไทย

0
1323
image_pdfimage_printPrint

“ชาติบ้านเมืองของเราจะเจริญยั่งยืนได้นั้น ไม่อาจอาศัยปัจจัยทางเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว หากยังขึ้นอยู่กับความรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งแสดงเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทยและคนไทย ดังนั้น การพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าและการจรรโลงรักษามรดกทางวัฒนธรรมมิให้เสื่อมลงหรือสูญหาย จึงถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน” ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเกี่ยวกับงานอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมไทย ศาสนา และดนตรี พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552

มูลนิธิเอสซีจีจึงดำเนิน โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย หรือ Young Thai Artist Award รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เวทีการประกวดศิลปะระดับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยได้รับความร่วมมืออันดีจากคณะผู้ร่วมจัดงานทุกฝ่าย อาทิ จุฬาลงกรณ์-มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ตลอดจนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่เปิดโอกาสให้เยาวชนผู้รักงานศิลป์ อายุ 18 – 25 ปีจากทั่วประเทศส่งผลงานสร้างสรรค์เข้าประชันเชิงชั้นด้านศิลปะถึง 6 สาขาได้แก่ สาขาศิลปะ 2 มิติ ศิลปะ 3 มิติ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วรรณกรรม และการประพันธ์ดนตรี ถือเป็นเวทีแห่งการเจียระไนเพชรน้ำงาม สร้างศิลปินรุ่นเยาว์ให้เติบโตบนเส้นทางศิลปะ ซึ่งการันตีคุณภาพด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นที่ยอมรับมากว่าหนึ่งทศวรรษ

ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “ในปีนี้มีน้องๆ เยาวชนที่มีหัวใจรักศิลปะจากทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 256 ชิ้น และได้รับการพิจารณากลั่นกรองคัดเลือกจนเหลือผลงานสร้างสรรค์ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจำนวน 34 ชิ้น ซึ่งผลงานเหล่านี้จะจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ และนิทรรศการพิเศษโครงการรางวัลยุวศิลปินไทยสัญจรไปจัดแสดงในหอศิลป์ที่เป็นเมืองศิลปะในส่วนภูมิภาคของประเทศในปีหน้า ทั้งนี้ในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2562 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวด ทรงเปิดและทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการรางวัลยุวศิลปินไทย ประจำปี 2561 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปิติสู่เหล่ายุวศิลปินไทย คณะกรรมการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการฯ ทุกคนทุกฝ่าย รวมทั้งมูลนิธิฯ ซึ่งขอเทิดไว้เหนือเกล้าตลอดไป ซึ่งถือเป็นเกียรติประวัติ เป็นขวัญ และกำลังใจให้กับเหล่ายุวศิลปินไทยอย่างสูงสุดที่จะได้ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อจรรโลงสังคมสืบไป”

ตลอดระยะเวลาที่มูลนิธิฯ ดำเนินโครงการรางวัลยุวศิลปินไทยนั้นได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะหลากหลายแขนงกว่า 65 ท่าน อาทิ ศ.เดชา วราชุน ศ.เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ศาสตราจารย์เกียรติคุณวิชัย สิทธิรัตน์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พิษณุ ศุภนิมิตร รศ.ทินกร กาษรสุวรรณ รศ.กมล เผ่าสวัสดิ์ รศ. ดร. รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม ผศ.วุฒิกร คงคา ผศ. ดร.ชัยพฤกษ์ เมฆรา ผศ. ดร.ปิยลักษณ์ เบญดล ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ ครูสังคม ทองมี อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง อาจารย์ศราวุธ ดวงจำปา คุณอรรถศิริ ธรรมโชติ คุณนนทรีย์ นิมิบุตร คุณนคร วีระประวัติ และคุณคงเดช จาตุรันรัศมี เป็นต้น ทำให้รางวัลนี้ได้รับความเชื่อถือและการยอมรับในระดับสากลในเรื่องความเที่ยงธรรมมาโดยตลอด และยังคงสร้างมาตรฐานการประกวดด้านศิลปะสำหรับเยาวชนในประเทศให้มีระดับสูงทัดเทียมศิลปินรุ่นใหญ่และนานาชาติ

ในปีนี้ผลงานยอดเยี่ยมที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้ง 6 สาขานั้น ล้วนมาจากฝีมือและความคิดสร้างสรรรค์ของเยาวชนไทยที่ได้รับการยอมรับเชิงประจักษ์ว่าเปี่ยมด้วยพลังเชิงชั้นศิลปะที่มีอัตลักษณ์ของยุวศิลปินรุ่นใหม่ ดังนี้

•ศิลปะ 2 มิติ (Two-Dimensional Art) ได้แก่ จิตใต้สำนึกที่ซ่อนเร้น
โดย นางสาวนิตยา เหิรเมฆ
กรรมการสาขาศิลปะ 2 มิติ ได้ให้ความเห็นถึงผลงานยอดเยี่ยมว่า “ผลงานที่ได้รับรางวัลดูแล้วมีความเรียบร้อย เข้าใจง่าย แต่ว่าสื่อถึงความรู้สึกที่เหนือความจริง ความรู้สึกที่ดูแล้วน่ากลัว ดูแล้วมีความลี้ลับอยู่ในผลงาน จริงๆ ผลงาน คือ การแกะไม้ โดยใช้เทคนิคอย่างง่ายไม่ซับซ้อน แต่ว่าสิ่งที่ได้รับจากผลงานชิ้นนี้กับความดีใจ ภูมิใจที่เราได้ชื่นชมกับงานชิ้นนี้ โดยเฉพาะผู้สร้างที่เป็นสุภาพสตรีด้วย แสดงให้เห็นถึงพลังของตัวเองที่แกะไม้ เทคนิคการพิมพ์ที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อนอะไรมาก ผลงานนี้ถ้าจะดูให้ดีมีลักษณะที่เป็นสองข้างเท่ากัน หรือ Symmetry แต่สองข้างเท่ากันที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับคนแกะไม้ หรือว่าศิลปินที่เขาแกะใบไม้ต่างๆ นี้ซึ่งไม่ให้ซ้ำกันทั้งสองด้าน ที่นี้ความรู้สึกว่าสองด้านเท่ากันมันไปรวมอยู่ตรงกลางของภาพ มีสัญลักษณ์ต่างๆ เหมือนกับเราเดินเข้าไปในร่มเงาของต้นไม้ เดินเข้าไปในป่า จุดที่มันมีจิตวิญญาณลี้ลับอยู่ในพื้นป่านั้นซึ่งเป็นความเรียบง่ายของเขาที่ทำให้ชนะใจกรรมการ”

•ศิลปะ 3 มิติ (Three-Dimension Art) ได้แก่ ลมหายใจของสิ่งมีชีวิตภายใต้การกำหนดของมนุษย์
โดย นายภาราดา ภัทรกุลปรีดา
กรรมการสาขาศิลปะ 3 มิติ ได้ให้ความเห็นถึงผลงานยอดเยี่ยมว่า “คณะกรรมการได้คัดเลือกแล้วเห็นว่าเป็นผลงานชิ้นนี้ซึ่งแสดงออกได้ดีที่สุดในด้านรูปทรงของงานก็ดี การแสดงออกถึงชีวิตของผลงานก็ดี เขาเอาช้างมากำหนดเรื่องราวที่เขาอยากแสดงออกในความทุกข์ยาก ความหดหู่ ความเศร้า ที่ได้รับเกี่ยวกับเรื่องการใช้แรงงานสัตว์ที่น่าสงสาร แต่สำคัญว่างานชิ้นนี้ดูแล้วหดหู่และน่าสงสาร ตรงที่มีลมหายใจแต่หมดสภาพทำอะไรไม่ได้แล้ว คณะกรรมการจึงตัดสินว่าผลงานชิ้นนี้ควรได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในปีนี้”

•ภาพถ่าย (Photography) ได้แก่ สภาวะซ่อนเร้น
โดย นายปรเมษฐ์ จิตทักษะ
กรรมการสาขาภาพถ่าย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลงานยอดเยี่ยมว่า “คณะกรรมการมีความเห็นร่วมกันเป็นเอกฉันท์ว่าผลงานชุดสภาวะซ่อนเร้น เป็นผลงานที่ค่อนข้างจะสร้าง อิมแพคและจากตัวคอนเซ็ปต์แล้ว ตัวศิลปินเองสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกลึกๆ ภายในผ่านภาพถ่ายโดยใช้ลักษณะสัญลักษณ์ คือ สัญญะแทนอารมณ์ ความหมาย แล้วก็สิ่งที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นก็คือลักษณะชุดของผลงานดูเหมือนว่าจะธรรมดา แต่ถ้าเราดูในรายละเอียดแล้วว่าในสิ่งที่เขาพูดถึงสภาวะซ่อนเร้นของเขานี้มันก็จะมีทั้งชนิดต่างๆ ของสิ่งที่ประกอบขึ้นนั้นมีความหลากหลายที่ซ่อนอยู่ แล้วก็ความชัดเจนของการใช้แสงที่ทำให้ตัวสีของงานมันมีความประหลาดๆ และตัวผลงานก็สามารถผลักเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ที่เป็นตัวตนในสิ่งที่ศิลปินต้องการที่จะพูดถึงในความซ่อนเร้นและบิดบังของตัวตนของศิลปินผ่านผลงาน และผลงานก็พยายามใช้ลักษณะคาแรคเตอร์ของงานจิตรกรรมในเพนท์ติ้งโบราณแต่ก็ด้วยความเป็นดิจิตอลสีของงานนี้ก็ถือย้อมด้วยสีตอนที่ถ่ายภาพ จนทำให้คาแรคเตอร์เหล่านี้มันสร้างอิมแพคได้ดี”

•ภาพยนตร์ (Film) ได้แก่ เงาสูญสิ้นแสง
โดย นายกฤษดา นาคะเกตุ
กรรมการสาขาภาพยนตร์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลงานยอดเยี่ยมว่า “สำหรับงานที่ได้รางวัลคณะกรรมการเห็นค่อนข้างตรงกันว่าภาพยนตร์เรื่อง ‘เงาสูญสิ้นแสง’ นี้ตัวคนทำสามารถใช้ฟอร์มของการเป็นภาพยนตร์หลากหลายรูปแบบเพื่อมาเล่าสะท้อนสิ่งที่ตัวเองคิดได้ดี ในแง่ของเนื้อหามีความโดดเด่นมาก พูดถึงเรื่องคอมมิวนิสต์ ความเชื่อ การสร้างผีขึ้นมาผ่านเรื่องเล่าซึ่งมันเลยไม่ใช่เรื่องของคอมมิวนิสต์แต่เป็นเรื่องของความเชื่อ เรื่องของการสร้างความกลัวขึ้นมาในสังคม ทำให้ภาพยนต์เรื่องนี้มันกลายเป็นเรื่องที่ร่วมสมัยมาก”

•วรรณกรรม (Literature) ได้แก่ กระดาษคำตอบ
โดย นายชลัช จินตนะ
กรรมการสาขาวรรณกรรม ได้ให้ความเห็นถึงผลงานยอดเยี่ยมว่า “นวนิยายเรื่อง ‘กระดาษคำตอบ’มีความพิเศษกว่าผลงานเรื่องอื่นๆ ซึ่งผู้เขียนได้สะท้อนปัญหาของเด็กรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ เหมือนกับโลกสมัยใหม่ที่มีการแข่งขันกันมาก ครอบครัวก็มีปัญหา เด็กๆ ที่เรียนหนังสือในสถาบันการศึกษาก็มีปัญหา สัมพันธภาพกับเพื่อนๆ หรือว่าแม้กระทั่งเพศสภาพทุกอย่างเป็นเรื่องที่เขาต้องต่อสู้หมดเลย และการต่อสู้ของตัวละครก็สามารถก้าวข้ามกำแพงแห่งปัญหาไปได้แทบทุกขั้นตอนอย่างที่เรียกว่ามีความครุ่นคิด พินิจอยู่ข้างในซึ่งน่าสนใจมาก เราจึงพิจารณาให้นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม”

•การประพันธ์ดนตรี (Music Composition) ได้แก่ จิ๋งเญ่า
โดย นางสาวชุดาลักษณ์ พินันท์
กรรมการสาขาการประพันธ์ดนตรี ได้ให้ความเห็นถึงผลงานยอดเยี่ยมว่า “คณะกรรมการมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่าผลงานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมนี้มีความชัดเจนในแง่ไอเดีย และก็สามารถสร้างเสียงดนตรีให้ไปในทิศทางนั้นได้ ซึ่งมีความโดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของผู้ฟังก็จะพบว่าสามารถจับได้ถึงไอเดียสำคัญของบทเพลงนี้ได้โดยไม่ยาก คือจริงๆ การพิจารณาก็ดูหลายอย่างจากการเขียนโน้ตให้ถูกต้อง ดูจากการเล่น แต่ว่าเพลงนี้ผู้ฟังสามารถฟังได้โดยไม่ต้องใช้โน้ตหรืออะไร เพราะมีความชัดเจน ส่วนเรื่องของการเขียนเครื่องดนตรีก็แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ของคนแต่งว่ามีประสบการณ์ดนตรีที่มากพอสมควร เขียนเครื่องดนตรีเดี่ยวให้โดดเด่นจากเครื่องดนตรีที่เป็นแนวประกอบได้ ตลอดจนสิ่งที่สำคัญก็คือว่าในเพลงนี้มันแบ่งได้เป็นเพลงสั้นๆ หลายๆ เพลง แต่ละเพลงก็มีลักษณะที่โดดเด่น จึงพิจารณาให้ผลงานนี้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม”

นอกจากจัดการประกวดแล้ว มูลนิธิฯ ยังสนับสนุนให้ผู้ที่ได้รับรางวัลได้มีโอกาสก้าวสู่การเป็นศิลปินระดับอาชีพอีกด้วย นอกจากน้องๆ ยุวศิลปินไทยผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจะได้รับเงินรางวัล 150,000 บาทแล้ว ยังมีโอกาสได้เดินทางทัศนศึกษาสัมผัสศิลปะระดับโลก เพื่อเปิดโลกทัศน์ เพิ่มพูนทักษะความรู้ทางศิลปะ เก็บเกี่ยวประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผลงานศิลปะต่อไปในอนาคต และสำหรับผู้ได้รับรางวัลดีเด่นจะได้รับเงินรางวัลคนละ 50,000 บาท

ทั้งนี้มูลนิธิฯ ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างโอกาสและต่อยอดความสามารถของยุวศิลปินที่ได้รับรางวัลจากเวทีรางวัลยุวศิลปินไทย อาทิ นายอนุชา บุญยวธรรนะ ผู้กำกับเลือดใหม่ของวงการแผ่นฟิล์ม ผู้เคยได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ ปี 2547 ที่มูลนิธิฯ ได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “มะลิลา” (Malila The Farewell Flower) ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลจากต่างประเทศมากมาย และล่าสุดได้รับคัดเลือกจากสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติให้เป็นตัวแทนภาพยนต์ไทยไปชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 91 ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ( Best Foreign Language Film Award ) ณ โรงมหรสพดอลบีเธียเตอร์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะประกาศผลในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 รวมทั้งยังให้การสนับสนุนนางสาวธิดารัตน์ จันทเชื้อ ผู้ที่ได้รับรางวัลดีเด่น สาขาศิลปะ 2 มิติ ปี 2558 ในการเป็นศิลปินพำนักในเวที Art Stages Singapore ประจำปี 2561 ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นงานศิลปะประจำปี และเป็นเวทีศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งนอกจากจะเป็นหนึ่งในตัวแทนประเทศไทยจากศิลปินทั้งหมด 152 คน จาก 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว นางสาวธิดารัตน์ยังถือเป็นยุวศิลปินที่อายุน้อยที่สุดในการจัดแสดงผลงานศิลปะในครั้งนี้ ทั้งสองตัวอย่างข้างต้น นับเป็นความภาคภูมิใจของมูลนิธิฯ ที่ได้มีโอกาสส่งเสริมให้ยุวศิลปินไทยได้ก้าวสู่การเป็นศิลปินในเวทีสากลอย่างสมเกียรติ

โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย หรือ Young Thai Artist Award โดย มูลนิธิเอสซีจี เวทีสร้างคนศิลป์ ปั้นยุวศิลปินประดับวงการศิลปะไทย ที่มุ่งมั่นส่งเสริมและต่อยอดความสามารถด้านศิลปะของน้องๆ เยาวชนให้ก้าวไปสู่เวทีระดับสากล เพราะเราเชื่อว่าไม่มีการสร้างใดจะยั่งยืนไปกว่าการสร้าง ‘คน’มูลนิธิเอสซีจี ‘เชื่อมั่นในคุณค่าของคน’ สำหรับน้องๆ เยาวชนที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 586 2042 และร่วมติดตามความคืบหน้าได้ที่ www.facebook.com/YoungThaiArtistAward