ค่ายรถยักษ์ วอลโว่ ยูดี พร้อมรับมือ Logistics 4.0
• จัดเต็มเทคโนโลยีเพื่อช่วยพัฒนากิจการขนส่ง
• ภาพรวมตลาดครึ่งปีแรกไม่เป็นตามคาด ยอดขายยังทรงตัว
• โหมจัดกิจกรรมครึ่งปีหลัง กระตุ้นยอด
บริษัท วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ตอกย้ำ ภาคการขนส่งหรือโลจิสติกส์ไทย จะพบทางรอด ต้องนำเทคโนโลยีปรับใช้กับการดำเนินงานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะสอดรับกับนโยบาย “โมเดลประเทศไทย 4.0” หรือ “Thailand 4.0” ของรัฐบาล ซึ่งในภาคการขนส่ง จะต้องปรับการดำเนินงานเข้าสู่ยุค Logistics 4.0 ด้วยเช่นกัน
นายกำลาภ ศิริกิตติวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าจากนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลที่ต้องการนำนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนภาคธุรกิจให้ยกระดับการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในส่วนของภาคธุรกิจขนส่งนั้น ผู้ประกอบการจะต้องปรับทัพให้เข้ากับยุค Logistics 4.0 ด้วยเช่นกัน โดยจะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับการให้บริการเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม
นายกำลาภ กล่าวว่าตลอดช่วงระยะหลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการขนส่งไทยมีแนวโน้มที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพการขนส่งให้ดียิ่งขึ้น และลดความสูญเสียในระหว่างการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งเทคโนโลยีหลัก ๆ ได้แก่ Connected GPS ระบบเชื่อมต่อเพื่อติดตามข้อมูลการขนส่งอย่างเรียลไทม์ ซึ่งต่อมายังมีการปรับใช้เทคโนโลยี Logistics Cloud เพื่อเก็บคลังข้อมูล และนำ Big data มาใช้วิเคราะห์วางแผนด้านการขนส่งซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่สะสมมานานในอุตสาหกรรม เช่น การขับออกนอกเส้นทาง การใช้ความเร็วเกินกำหนด หรือแม้กระทั่งการเบิกค่าน้ำมันเกินอัตรา
ปัจจุบัน บริษัท วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตและจัดจำหน่ายรถบรรทุกวอลโว่ ทรัคส์ และรถยูดี ทรัคส์ โดยรถวอลโว่ ทรัคส์ นั้นได้พร้อมติดตั้งระบบไดน่าฟลีท (Dynafleet) เป็นระบบสื่อสารดาวเทียมเทคโนโลยี ที่จะติดตามตำแหน่งรถและเก็บข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถที่สามารถรายงานผลไปยังศูนย์บัญชาการ และยังช่วยในการวางแผนการรับบริการ เพื่อให้รถได้วิ่งบนท้องถนนได้อย่างยาวนานที่สุด
นอกจากนี้ วอลโว่ ทรัคส์ ยังมีเทคโนโลยีล้ำสมัยพร้อมให้เลือกติดตั้ง ไม่ว่าจะเป็นระบบช่วยเปลี่ยนช่องทางเดินรถ ระบบการตรวจวัดแอลกอฮอล์ด้วยการเป่าก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์ ระบบดับเครื่องยนต์อัตโนมัตเมื่อมีการติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ สัญญานกันขโมยปกป้องทั้งตัวรถและหาง ระบบเบรกฉุกเฉินและอื่นๆ
ในขณะที่รถยูดี ทรัคส์ นั้น มีการติดตั้งระบบเทเลเมติกส์ (Telematics) ช่วยตรวจสอบสถานะรถได้แบบเรียลไทม์และ มีเครื่องมือแจ้งเตือนด้านงานบริการ ตรวจสอบความผิดปกติของตัวรถผ่านระบบ สามารถให้ความช่วยเหลือในกรณีรถเสียได้อย่างรวดเร็วฉับไว ซึ่งจะนำไปสู่ผลประโยชน์ด้านค่าใช้จ่ายในระยะยาว
“ระบบเหล่านี้ ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการสร้างข้อมูลเชิงลึกเพื่อใช้วางแผนการขนส่งให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด นอกจากนี้จะช่วยให้พนักงานขับรถบรรทุกทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น และยังช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อีกด้วย” นายกำลาภ กล่าว
นายกำลาภ ยังกล่าวถึงตลาดรถบรรทุกขนาดใหญ่ในช่วงห้าเดือนแรกของปีนี้ยังไม่เป็นไปตามคาด ตลาดหดตัวลงเล็กน้อยที่ 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ทั้งนี้เพราะมีหลายปัจจัยลบที่กระทบต่ออุตสาหกรรมรถบรรทุกไม่ว่าจะเป็นการลงทุนภาคเอกชนลดลง โดยเฉพาะการลงทุนในสิ่งก่อสร้างที่ลดลงถึง 4.5% และการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ลดลง 0.3% ในไตรมาสแรกของปี ผนวกกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายภาครัฐที่ชะลอตัวลง และยังมีมาตรการรัฐบาลปี 2559 ที่กระตุ้นกำลังซื้อรถบรรทุกไปด้วยมาตรการลดหย่อนภาษี 2 เท่าของมูลค่ารถยนต์ส่งผลให้ดึงกำลังซื้อไปล่วงหน้า เหล่านี้มีผลทำให้ตลาดมีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีแรก
จากตัวเลขรถจดทะเบียน 5 เดือนแรก จะเห็นทิศทางตลาดทั้งปีเป็นไปในทางลบ ซึ่งอาจแสดงได้ว่าตลาดรถบรรทุกขนาดใหญ่ของประเทศไทยปีนี้ น่าจะหดตัวลง 12% และรถบรรทุกขนาดกลางน่าจะหดตัว 9% ณ สิ้นปี
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยที่เอื้อต่อการเติบโตของตลาดในครึ่งปีหลัง การประกาศขยายมาตรการลดหย่อนภาษี 1.5 เท่าของมูลค่าการลงทุนในยานพาหนะเพื่อการขนส่งจนถึงสิ้นปี ทั้งการเดินหน้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล การเร่งดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ Eastern Economics Corridor หรือ EEC ซึ่งภายใต้โครงการนี้ จะมีการก่อสร้างระบบถนนเพิ่มเติมถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะกระตุ้นให้ภาคการขนส่งให้เติบโต การส่งออกของปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของภาคการเกษตร และการส่งออก หากปัจจัยเหล่านี้ขับเคลื่อนหรือเป็นไปตามแผน อาจจะทำให้ได้เห็นการพลิกฟื้นของตลาดไตรมาสที่ 3 และ 4 ก็เป็นได้
ในขณะที่ยอดขายของวอลโว่ กรุ๊ป ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดขายทั้งหมด 445 คัน มาจากวอลโว่ ทรัคส์ 119 คันและยูดี ทรัคส์ 326 คัน โดยมีส่วนแบ่งตลาดของทั้ง 2 แบรนด์ที่ 6% เหมือนปีก่อน
นายกำลาภ กล่าวปิดท้ายว่าเพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายในครึ่งปีหลัง ทั้งวอลโว่ ทรัคส์ และ ยูดี ทรัคส์ ได้วางแผนโหมจัดกิจกรรมเต็บสูบ ไม่ว่าจะเป็น การแข่งขันขับประหยัดน้ำมันวอลโว่ ทรัคส์ “ฟิววอท์ช ชาเลนจ์ 2017” เพื่อค้นหาสุดยอดนักขับจากไทยไปสู้ศึกที่ประเทศสวีเดน และการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ของวอลโว่ทรัคส์ที่กำลังจะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้
ในด้าน ยูดี ทรัคส์ จะมีจัด ยูดี โครเนอร์ คาราวาน ไปยังจุดจอดหลักทั่วประเทศ และ ครั้งแรกกับการแข่งขัน UD Trucks Extra mile Challenge ที่จะมีจัดขึ้นในประเทศไทย เพื่อเฟ้นหานักขับไทยที่มีทักษะการขับขี่เป็นเลิศไปชิงแชมป์ต่อที่ประเทศญี่ปุ่น บอกได้เลยว่าวอลโว่กรุ๊ปเราสู้ไม่ถอยแน่นอน”