ในประเทศไทยยังมีคนจำนวนมากที่มีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง ว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ สอนให้เด็กรู้ถูกผิด และให้เคารพผู้ใหญ่ ตัวอย่างความเชื่อผิดๆ เช่น
“การตีทำให้เด็กว่านอนสอนง่าย”
ความจริงก็คือ เราควรสอนเด็กโดยการกระตุ้นให้เด็กสำรวจค้นคว้า หาความรู้ด้วยตนเอง ตั้งคำถาม และเรียนรู้ถึงความสนุกเพลิดเพลินในการค้นหาคำตอบเป็นส่วนใหญ่ของกระบวนการเรียนรู้ แต่การลงโทษด้วยความรุนแรง ทำให้เด็กไม่กล้าถาม ไม่กล้าคิดแบบวิพากษ์วิจารณ์ และไปให้ถึงเป้าหมายของตนเอง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็น ในการที่จะประสบความสำเร็จในสังคมปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว แข่งขัน และต้องคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา การบังคับให้เด็กเชื่อฟังอย่างไม่ลืมหูลืมตาโดยใช้ความรุนแรงคุกคาม ย่อมเป็นการสกัดกั้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในเด็ก ซึ่งจะมีผลไปถึงวัยผู้ใหญ่อย่างแน่นอน
“การเฆี่ยนตีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเรา”
บางคนมักถือเอาว่าการเฆี่ยนตีหรือลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเรา และความคิดที่จะหาทางเลือกอื่นๆ ในการสร้างวินัยเด็กเป็นการพยายามยัดเยียด “วิธีคิดแบบตะวันตก” หรือแบบฝรั่งเข้ามาในวัฒนธรรมไทย ซึ่งใช้ไม่ได้ผลในบ้านเรา แต่ที่จริงแล้วการลงโทษเด็กด้วยการเฆี่ยนตีเคยมีอยู่ในวัฒนธรรมตะวันตก แต่ต่อมาเมื่อมีการศึกษาวิจัยเรื่องการเลี้ยงดูเด็กที่มีประสิทธิภาพ แล้วพบว่าการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงก่อผลเสียมากกว่าผลดี จึงได้มีการรณรงค์ให้เลิกวิธีเช่นนี้ ความจริงแล้วมีค่านิยมหลักอยู่สองประการในสังคมเอเชีย คือ การรักษาความสามัคคีและปรองดองกันในสังคม และการใช้ความสามารถทางจิตใจเพื่อควบคุมหรือสร้างวินัยให้ร่างกาย การใช้ความรุนแรงนั้นขัดแย้งกับค่านิยมทั้งสองอย่างนี้ และยังทำลายความสัมพันธ์ที่ดีในสังคมด้วย
“ฉันก็เคยโดนตีมาแล้ว และก็ไม่เห็นจะมีผลร้ายตรงไหน”
ซึ่งคนที่ใช้เหตุผลนี้มาอ้างมักจะทำเพื่อพยายามลดความรู้สึกผิดของตนเอง ที่ใช้การลงโทษแบบนี้กับลูกของตนเอง ซึ่งสิ่งที่เขาทำอยู่นี้เป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการถูกลงโทษในวัยเด็กนั้นเป็นผลร้ายกับเขาจริงๆ เพราะเขากำลังถ่ายทอดความรุนแรงนั้นไปสู่ลูก และในทำนองเดียวกันเด็กเหล่านี้ก็จะต้องสืบทอดความรุนแรงต่อไปอีกอย่างไม่สิ้นสุด
“การตีได้ผลดีที่สุด วิธีอื่นๆ ไม่มีประสิทธิภาพ”
ความจริงก็คือ การลงโทษด้วยความรุนแรงดูเหมือนจะได้ผลดีหากดูเพียงผิวเผินหรือในระยะสั้นเท่านั้น วิธีการเช่นนี้สอนให้เด็กทำตามที่สั่ง แต่จะทำเฉพาะเวลาอยู่ต่อหน้าเท่านั้น เพื่อที่จะได้ไม่โดนตีหรือถูกลงโทษด้วย วิธีอื่นๆ ที่ทำให้อับอายขายหน้า เป็นการสร้างความรู้สึกไม่ไว้วางใจและไม่ปลอดภัยขึ้นในใจเด็ก แต่ไม่ได้สอนให้เด็กมีวินัยในตนเอง และรู้จักประเมินว่าสิ่งใดไม่ควรทำ
สิ่งที่ได้กล่าวมา รวมถึงการดุด่า หยิก บิดหู ก็ล้วนเป็นความรุนแรงต่อเด็ก ที่พ่อแม่หลายท่านอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นวิธีการเลี้ยงลูกที่ผิดวิธี และส่งผลกระทบรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งจากรายงานของยูนิเซฟ พบว่า เด็กที่ถูกกระทำรุนแรงมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ทั้งมีอาการวิตกกังวลเสียใจ เสียความภูมิใจในคุณค่าของตนเอง สิ้นหวัง จนอาจมีอาการซึมเศร้า หรือร้ายแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ ยังมักมีปัญหาในการปรับตัวด้านการเรียนและการเข้าสังคม มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ตลอดจนเสี่ยงต่อการเป็นผู้กระทำรุนแรงเสียเองในอนาคต**
ยูนิเซฟ ขอเชิญชวนพ่อแม่ ผู้ดูแลเด็กทุกคนเลี้ยงดูเด็กภายใต้แนวคิด เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ หยุดใช้ความรุนแรง เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม และหยุดใช้ความรุนแรงต่อเด็กในทุกกรณี พร้อมใช้วิธีเลี้ยงดูเด็กแบบถูกวิธีด้วยการเสริมสร้างวินัยเชิงบวกด้วยวิธีที่จำง่ายๆ ที่เรียกว่า CUTE ได้แก่
Confidence = ให้ความมั่นใจ
Understanding =ให้ความเข้าใจ
Trust =ให้ความไว้ใจ และ
Empathy =ให้ความเห็นใจ
โดยท่านสามารถหาข้อมูลการเลี้ยงลูกแบบวินัยเชิงบวก พร้อมรับชมวิดิโอคลิป “คุณกำลังทำร้ายหัวใจลูกรักอย่างรุนแรงอยู่หรือไม่?” http://youtu.be/CszdSPsV5h0 พร้อมคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ หนูดี วานิษา เรซ ได้ที่เว็บไซต์ www.endviolencethailand.org
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือคู่มือครู วินัยเชิงบวก โดยผศ.สมบัติ ตาปัญญา และรายงาน Positive Discipline in the Inclusive, Learning-Friendly Classroom, UNESCO
** จากรายงานขององค์การยูนิเซฟเรื่อง “การเลี้ยงดูโดยมิชอบต่อเด็ก (Child Maltreatment: Prevalence, Incidence and Consequences in East Asia and Pacific), 2012