ผลการศึกษาซึ่งเปิดเผยโดย คอร์น เฟอร์รี่ บริษัทผู้ให้คำปรึกษาแก่องค์กรชั้นนำระดับโลก ระบุถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จของเหล่าผู้บริหารหญิงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการก้าวสู่ตำแหน่งในระดับผู้บริหารสูงสุดขององค์กร อีกทั้งยังนำเสนอขั้นตอนที่บริษัทต่าง ๆ สามารถกำหนดขึ้น เพื่อสร้างผู้บริหารหญิงขององค์กรในอนาคต
การวิจัยนี้ดำเนินการในเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม พ.ศ. 2560 โดยการสัมภาษณ์ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรหญิงจำนวน 57 คน จากบริษัท 41 แห่งในรายชื่อบริษัท Fortune 1000 Companies และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ 16 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “100×25 initiative” ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้าง CEO หญิง ใน100 บริษัทชั้นนำที่อยู่ใน Fortune 500 ภายในปี ค.ศ. 2025 เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศภายในสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานระดับองค์กร
ดร. มานะ โลหเตปานนท์ กรรมการผู้จัดการ คอร์น เฟอร์รี่ เฮย์ กรุ๊ป เผยว่า “คอร์น เฟอร์รี่ มีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้ผู้บริหารหญิงทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยการศึกษาครั้งใหม่สามารถชี้ให้เห็นถึงเหตุผลสำคัญว่า เพราะเหตุใดนี่จึงเป็นภารกิจที่สำคัญ ทั้งยังเผยเคล็ดลับที่ช่วยให้ผู้หญิงสามารถก้าวขึ้นไปสู่ยอดปิระมิดขององค์กรได้ ซึ่งทุกวันนี้ทั่วโลกต่างตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศในสถานที่ปฏิบัติงานกันมากขึ้น แม้เราจะได้เห็นถึงผู้นำหญิงในประเทศไทยแล้วหลายคน หากเราควรส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายในสถานที่ปฏิบัติงานในทุกระดับชั้นขององค์กรต่อไป”
“ปัจจุบันมีผู้บริหารหญิงถึง 94 คนในบริษัทชั้นนำที่อยู่ในกลุ่ม Fortune 500 ซึ่งเรารู้สึกตื่นเต้นอย่างมากที่ได้เห็นอัตราส่วนนี้” เจน เอดิสัน สตีเวนสัน Korn Ferry’s Global Leader for CEO Succession ผู้รับผิดชอบงานวิจัยครั้งสำคัญนี้ กล่าว “แทนที่จะพยายามค้นหาว่า เพราะเหตุใดผู้หญิงส่วนใหญ่จึงไม่ได้เป็นผู้บริหาร เรากลับให้ความสำคัญกับคุณสมบัติที่เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จของผู้บริหารหญิงมากกว่า อันได้แก่ ประสบการณ์ ความสามารถ รวมถึงอุปนิสัยและแรงผลักดันที่พวกเธอมีเหมือน ๆ กัน ซึ่งทำให้พวกเธอมีความแตกต่างและคู่ควรกับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กรขนาดใหญ่ การทำความเข้าใจกับตัวชี้วัดศักยภาพเหล่านี้ จะสามารถกำหนดปัจจัยที่สร้างผลกระทบในระดับองค์กร ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งสำหรับองค์กรและผู้หญิงที่จะกุมบังเหียนบริษัทในอนาคต”
การศึกษาครั้งนี้ดำเนินการผ่านสัมภาษณ์เชิงลึกกับเหล่าผู้บริหารหญิงแบบรายบุคคล โดยเจาะลึกประวัติส่วนตัว การทำงาน ตลอดจนอุปนิสัยและแรงผลักดันที่มีความสำคัญ รวมถึงผ่านเครื่องมือการประเมินผู้บริหารระดับสูงของ คอร์น เฟอร์รี่
ข้อมูลสำคัญ 6 เรื่องที่ผู้บริหารหญิงทุกคนในการศึกษาครั้งนี้มีร่วมกัน
1. ผู้บริหารหญิงเหล่านี้ทำงานหนักกว่าและยาวนานกว่าเพื่อจะได้ขึ้นสู่ระดับสูงสุด – ผู้บริหารหญิงโดยเฉลี่ยมีอายุมากกว่าผู้บริหารชายในระดับเดียวกันราว 4 ปี และผ่านตำแหน่งงาน หน้าที่รับผิดชอบ จำนวนบริษัท และธุรกิจที่มากกว่า
2. พวกเธอถูกผลักดันโดยความมุ่งมั่นในเป้าหมายและผลลัพธ์ในเชิงธุรกิจ – ผู้บริหารหญิงมากกว่า 2 ใน 3 จากการสัมภาษณ์และการประเมิน กล่าวว่า พวกเธอมีแรงผลักดันจากความมุ่งมั่นในเป้าหมาย และความศรัทธาต่อบริษัทมีผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชน พนักงาน และโลกรอบตัวเธอ โดยราว 1 ใน 4 ชี้ว่าการสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่พวกเธอภาคภูมิใจที่สุด
3. อุปนิสัยที่แตกต่างส่งผลถึงความสำเร็จของผู้หญิงในการไต่สู่ตำแหน่งผู้บริหาร – อุปนิสัยและความสามารถที่ถูกระบุถึงหลายครั้งในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ความกล้าหาญ การกล้าเสี่ยง ความยืดหยุ่น ความฉับไว และการจัดการกับความคลุมเครือ
4. การทำงานโดยอาศัยการรวมพลังของทีมงาน – เห็นได้ชัดว่าคะแนนด้าน “ความเป็นมนุษย์ที่มีความเข้าอกเข้าใจและมีเมตตา” ที่สูงมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน การไม่ชอบยกยอปอปั้นตัวเอง การแสดงความชื่นชมในตัวผู้อื่น และการแบ่งปันความดีความชอบแก่คนอื่น โดยผู้บริหารหญิงมักส่งเสริมผู้อื่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
5. ผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการเป็นผู้บริหารสูงสุด แม้จะมีศักยภาพที่โดดเด่นชัดเจน – กว่า 2 ใน 3 ของพวกเธอเหล่านี้กล่าวว่า ไม่เคยคาดคิดว่าจะได้เป็นผู้บริหารจนกระทั่งเจ้านายกระตุ้นและส่งเสริมว่าเธอทำได้ เพราะพวกเธอมักจะให้ความสำคัญกับการทำงานให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจและการแสวงหาความท้าทายใหม่ๆ มากกว่าจะมัวพะวงถึงความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่
6. ผู้หญิงเหล่านี้ต่างมีการศึกษาในสาขา STEM และการเงิน ที่ช่วยส่งเสริมความสำเร็จในการทำงาน – ในช่วงเริ่มต้นการทำงาน กว่า 60% ของผู้หญิงเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญในเรื่อง STEM หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวกับ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ (40%) หรือ ธุรกิจ/การเงิน/เศรษฐศาสตร์ (19%) อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้พวกเธอสามารถสร้างผลลัพธ์ที่แม่นยำและคาดการณ์ได้แน่นอน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อความสำเร็จทางธุรกิจ
รายงานการวิจัยได้นำเสนอขั้นตอนที่ชัดเจนซึ่งบริษัทสามารถนำไปใช้ในการเร่งรัดและรักษาระดับการสร้างผู้บริหารหญิงในอนาคต รวมถึงสามารถระบุผู้มีศักยภาพได้ล่วงหน้าเพื่อสื่อสารถึงโอกาสที่สอดคล้องกับจุดแข็งของผู้บริหารหญิงเหล่านั้นและกำหนดวิธีการส่งเสริมและพัฒนาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ Mentor ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่ขาดไม่ได้ในการผลักดันและส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ซึ่งในปัจจุบัน ข้อเสนอแนะเหล่านี้ได้ถูกนำไปใช้ในการออกแบบโปรแกรมเพื่อเพิ่มจำนวนผู้บริหารหญิงในกลุ่มบริษัทนำร่อง
“สิ่งหนึ่งที่เราพบระหว่างการวิจัยแสดงให้เห็นว่า อุปนิสัยของผู้บริหารหญิงมีความสอดคล้องอย่างมากกับคุณสมบัติของผู้นำยุคใหม่ที่คณะกรรมการบริษัทกำลังต้องการ ซึ่งได้แก่ ความกล้าหาญและความสามารถในการนำทีมงานท่ามกลางความไม่แน่นอนและความคลุมเครือภายใต้สภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา” เอเวอลีน ออร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ Korn Ferry Institute และผู้นำการวิจัยครั้งนี้ กล่าว “ในขณะที่โครงการ 100×25 Initiative ของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ถือเป็นโครงการที่จุดประกายให้แก่สังคม เราแน่ใจว่า เมื่อมีบริษัทที่ได้ผลลัพธ์ทางธุรกิจเชิงบวกจากการส่งเสริมให้ผู้หญิงไต่สู่ระดับผู้บริหารมากขึ้นเท่าใด ก็จะมีบริษัทที่ทำตามแนวคิดนี้เพิ่มมากขึ้น”
หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาเรื่อง “Women CEOs Speak” กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ https://engage.kornferry.com/womenceosspeak
เกี่ยวกับคอร์น เฟอร์รี่
คอร์น เฟอร์รี่ เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารองค์กรและบุคคลากรชั้นนำระดับโลก เราให้ความช่วยเหลือบรรดาบริษัทต่าง ๆ ในการออกแบบองค์กร ทั้งในแง่โครงสร้าง บทบาท และขอบเขตความรับผิดชอบ ตลอดจนรูปแบบการจ่ายผลตอบแทน การพัฒนา และการสร้างแรงจูงใจในการทำงานแก่บุคลากร เรายังให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรในการคัดสรรและจ้างงานบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์บริษัท
คอร์น เฟอร์รี่ ดำเนินงานด้วยทีมงานมากกว่า 7,000 คน ใน 3 หน่วยธุรกิจหลักได้แก่ Executive Search, Hay Group และ Futurestep