ความร่วมมืออาเซียน – เยอรมันนำเสนอหลักการระบบอาหาร-เกษตรยั่งยืน ที่เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอาเซียนกว่า 3,800 ล้านบาทใน 4 ปี
เชียงใหม่ / 29 กันยายน 2560 – โครงการความร่วมมืออาเซียน – เยอรมันด้านอาหารและการเกษตรนำเสนอหลักการระบบอาหาร-เกษตรอย่างยั่งยืนในอาเซียน ที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรในอาเซียนจำนวนกว่า 125,000 ราย เป็นมูลค่าถึง 98 ล้านยูโร (เทียบเท่าประมาณ 3,800 ล้านบาท) ในระยะเวลา 4 ปีของการทำโครงการ ผ่านนิทรรศการการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 ที่จังหวัดเชียงใหม่
การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 นี้ จัดขึ้นในนามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศไทย โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่า 300 ท่านจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม เพื่อร่วมหารือในระดับภูมิภาคให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ของอาเซียน และเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค พร้อมทั้งร่วมสร้างจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศ
โดยโครงการความร่วมมืออาเซียน – เยอรมันได้นำเสนอ 4 หลักการในนิทรรศการ “แนวทางระบบอาหาร-เกษตรยั่งยืน สู่ความมั่นคงด้านอาหารและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดังนี้ 1) ผู้มีส่วนร่วมในทุกระดับต้องทำความเข้าใจและนำนโยบายด้านระบบอาหาร-เกษตรแบบยั่งยืนไปปฎิบัติและทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม 2) การกำหนดบทบาทและความร่วมมือของแต่ละภาคส่วนในห่วงโซ่มูลค่า (ภาครัฐ เอกชน และผู้ผลิต) และนำจุดแข็งของแต่ละภาคส่วนมาเสริมซึ่งกันและกัน 3) การให้ความสำคัญและดึงเกษตรกรรายย่อยให้มีบทบาทในห่วงโซ่มูลค่าเพื่อสร้างความยั่งยืน และ 4) การพัฒนาผู้นำและสร้างศักยภาพของตัวบุคคลเพื่อนำไปพัฒนาภาคส่วน (หรือองค์การของตน) และสังคมในระดับต่อๆไป ซึ่งเหล่านี้เป็นหลักการจากการทำงานร่วมมือระหว่างอาเซียน – เยอรมันผ่านโครงการระบบอาหาร-เกษตรแบบยั่งยืนแห่งอาเซียน (ASEAN Sustainable Agirfood Systems: ASEAN SAS) ที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557-2560
โครงการ ASEAN SAS เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมอาเซียน-เยอรมันด้านการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการเกษตรและป่าไม้ (GAP-CC) ดำเนินงานโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และพันธมิตรในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนเริ่มแรกจากรัฐบาลเยอรมัน จำนวน15 ล้านยูโร (เทียบเท่าประมาณ 580 ล้านบาท) และจากหุ้นส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เสริมขึ้นมาอีก 15 ล้านยูโร ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรจำนวน 125,000 รายในอาเซียน สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึง 98 ล้านยูโร (เทียบเท่าประมาณ 3,800 ล้านบาท) ภายในระยะเวลา 4 ปี
นางคลาวเดีย เอบาค อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายอาหารและการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันอาเซียนกำลังเผชิญกับความท้าทายอันใหญ่หลวงในภาคการเกษตรและอาหาร เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสม ถูกสุขอนามัย และเพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด
นางคลาวเดีย เอบาค กล่าวเสริมว่าโครงการระบบอาหาร-เกษตรแบบยั่งยืนแห่งอาเซียน (ASEAN SAS) ได้ดำเนินการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนมาถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ บทเรียนและประสบการณ์ต่างๆ และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างอาเซียนและประเทศเยอรมันจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนให้เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้จำหน่ายมีมาตรฐานคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และยั่งยืนขึ้น ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในภาคการเกษตรให้มากขึ้นด้วย
ดร. เสริมสุข สลักเพ็ชร์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าความร่วมมืออาเซียน-เยอรมัน ทางด้านการเกษตร มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคการเกษตรในการพัฒนาระบบการผลิต
สินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน และประเทศไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพโครงการ ASEAN SAS และโครงการเครือข่ายการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาเซียน (ASEAN Climate Resilience Network-CRN) มีความยินดีที่ผลการดำเนินการและข้อเสนอแนะ ได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนจากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ เพื่อไปปฏิบัติ และขยายผลให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อไป
นายชเตฟาน เฮลมิง ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่าในความร่วมมืออาเซียน-เยอรมันนี้มุ่งหวังให้การพัฒนาด้านการเกษตรเกิดผลเป็นรูปธรรม และสนับสนุนให้เกิดการปรึกษาหารือในระดับภูมิภาคเพื่อกำหนดกรอบนโยบายเชิงกลยุทธ์สำหรับภาคอาหารและการเกษตร และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การขยายให้เกิดความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในภูมิภาค และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรให้มากขึ้น พร้อมทั้งสร้างให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในห่วงโซ่มูลค่าด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม:
การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ร่วมกันติดตามผลการดำเนินงาน และให้ความเห็นชอบในมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรต่างๆ ตลอดจนวางเป้าหมายให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยและยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเข้าสู่ตลาดโลก ตลอดจนปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
GIZ ดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลากหลายสาขา ทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในอาเซียน สำหรับด้านการเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร GIZ มุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้ แบ่งปันแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของผู้นำ ผู้ประสานงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและเกษตรกร ผ่านเครือข่ายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชนในเอเชีย (SNRD Asia) และโครงการระบบอาหาร-เกษตรแบบยั่งยืนแห่งอาเซียน (ASEAN SAS)
ในนิทรรศการ “แนวทางระบบอาหาร-เกษตรยั่งยืน สู่ความมั่นคงด้านอาหารและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในงานประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 นี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของหลักการระบบอาหาร-เกษตรอย่างยั่งยืนในอาเซียน รวมทั้งประสบการณ์จากความสำเร็จ และข้อเสนอแนะทางนโยบายของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย
โครงการ ASEAN SAS ดำเนินงานเพื่อให้เกิดการสื่อสารและถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างประเทศสมาชิกภาคีอันนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้แก่ เป้าหมายการขจัดความยากจน (SDG 1) การขจัดความหิวโหย (SDG 2) การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (SDG 3) การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (SDG 12) การส่งเสริมการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและลดการเสื่อมโทรม(SDG 15) การสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาครัฐ เอกชน องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรประชาสังคม ตลอดจนถึงเกษตรกร (SDG 17) ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ ล้วนมีความสำคัญต่อประชาชน ประเทศชาติ ระดับภูมิภาคและระดับโลก