คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการศึกษา EIA/EHIA & SEA ตอนที่ 2

0
1236
image_pdfimage_printPrint

วันนี้ผมขออนุญาตอธิบายเรื่องที่คนไทยส่วนมาก ไม่ว่านักวิชาการก็ดี เจ้าหน้าที่รัฐก็ดี สื่อมวลชนก็ดีรวมถึงประชาชนทั่วไปที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือเกี่ยวข้องกับการจัดทำการศึกษา EIA/EHIA & SEA ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำ EIA/EHIA & SEA
1. การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (เรียกย่อว่า ค.1, ค.2, และ ค.3) ไม่ใช่การทำประชาพิจารณ์หรือประชามติ !!!
• ประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึง “การฟังความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่”
ในทางรัฐธรรมนูญ หมายถึง “กระบวนการที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและประชาชนมีส่วนร่วมนำเสนอข้อมูล คำแถลง จุดยืน ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นทั้งในเชิงสนับสนุนหรือคัดค้าน เกี่ยวกับนโยบาย ร่างกฎหมาย หรือการริเริ่มโครงการของรัฐ เพื่อให้รัฐนำข้อพิจารณาของทุกฝ่ายไปเปรียบเทียบผลดีผลเสีย หาจุดสมดุลที่เหมาะสม และใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบ โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ ก่อนที่จะตัดสินใจตามอำนาจที่มีอยู่ต่อไป”
• ประชามติ (Referendum) ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “มติของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่แสดงออกในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือที่ใดที่หนึ่ง และมติของประชาชนที่รัฐให้สิทธิออกเสียงลงคะแนนรับรองร่างกฎหมายสำคัญที่ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแล้ว หรือให้ตัดสินปัญหาสำคัญในการบริหารประเทศ”
ในทางรัฐธรรมนูญ หมายถึง “กระบวนการในการแสดงความเห็นของประชาชนด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อตัดสินใจว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ในเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ก่อนที่จะนำมติหรือการตัดสินใจนั้นออกเป็นกฎหมายหรือนำไปปฏิบัติเพื่อบังคับใช้เป็นการทั่วไป”
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ระหว่างการทำประชาพิจารณ์และการทำประชามติ คือมีการลงคะแนนเสียงโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่กำลังพิจารณา
แต่เวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เรานิยมเรียกว่า ค.1-ค.3 นั้น เป็นเวทีที่ผู้ทำการศึกษา EIA/EHIA จัดขึ้นเพื่อรับฟังข้อกังวลของผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ ตามระเบียบปฏิบัติที่สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำหนด ซึ่งผู้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะจดบันทึกเรื่องราว และรายละเอียดของข้อคิดเห็นต่าง ๆ ของผู้ที่นำเสนอ ทั้งด้านบวกและด้านลบพร้อมทั้งข้อมูลส่วนตัวของผู้นำเสนอ และบรรจุอยู่ในรายงาน EIA/EHIA ที่ส่งให้ สผ.พิจารณาเห็นชอบต่อไป ซึ่งโดยหลักการแล้ว ไม่ได้เปิดกว้างให้วิพากษ์วิจารณ์โครงการเหมือนกับการทำประชาพิจารณ์ แต่ในทางปฏิบัติ เวทีรับฟังความคิดเห็นฯก็กลายเป็นเวทีประชาพิจารณ์ย่อย ๆ เพราะทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านต่างก็อภิปรายกันด้วยข้อมูลและข้อคิดเห็นอย่างถึงพริกถึงขิง ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว การพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับรายงาน EIA/EHIA นั้นเป็นอำนาจของ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จากประสบการณ์ที่ผมเคยได้ไปร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นในหลายพื้นที่ ผมจำได้ว่ามีอยู่เวทีหนึ่ง ผู้ดำเนินรายการหรือพิธีกรประกาศกับผู้มาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นฯว่า “วันนี้แล้วครับพี่น้อง ท่านจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ว่าจะเอาหรือไม่เอาโครงการนี้ อำนาจอยู่ในมือท่านแล้ว” ซึ่งเป็นการชี้นำที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ประชาชนที่มาร่วมในวันนั้นเข้าใจผิดว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นฯเป็นเวทีประชามติ และอำนาจการตัดสินใจเป็นของประชาชน !!!
2. EIA/EHIA & SEA ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม !!!
ตามที่ผมได้อธิบายไว้แล้วข้างต้นว่า EIA เป็นเพียงการประเมินตามหลักวิชาการก่อนที่จะลงมือทำโครงการจริงเท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การติดตามประเมินการปฏิบัติงานของผู้ทำโครงการภายหลังจากที่โครงการนั้นได้ผ่านความเห็นชอบ EIA/EHIA แล้วว่า ได้มีการทำตามที่ได้รับปากไว้ในรายงานหรือไม่ ซึ่งก็มีกระบวนการติดตามประเมินผลต่อเนื่องได้หลายรูปแบบ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีร่วมกัน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากชุมชน ภาครัฐ และเจ้าของโครงการ ซึ่งเหมาะจะใช้กับโครงการขนาดใหญ่ หรืออาจจะกำหนดให้มีการตรวจวัดประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับความเชื่อถือ ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชนก็ได้ และที่สำคัญที่สุด ก็คือเจ้าของโครงการก็ยังต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ อย่างเช่น กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งถ้าละเลย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ชุมชนก็สามารถร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน หรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (แล้วแต่ว่าจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใดตามกฎหมายที่มีอยู่)
ผมอยากจะอุปมาเพื่อให้เข้าใจง่าย โดยสมมุติว่า รายงาน EIA/EHIA เป็นเหมือนการสอบเอนทรานซ์ สิ่งที่สังคมกำลังทำอยู่ในเวลานี้ ก็คือเหมือนการทำให้ข้อสอบเอนทรานซ์มันยากมาก ๆ โดยเรียกร้องเงื่อนไขและมาตรฐานปฏิบัติที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยลืมไปว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการสอบผ่านได้เข้าไปเรียน ก็คือนักศึกษาผู้นั้นจะต้องรักษาผลการเรียนให้อยู่ในระดับดี มิเช่นนั้น ก็อาจจะถูกรีไทร์ได้ในที่สุด ซึ่งผมก็เชื่อว่า คนที่จะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เป็นพันล้าน หมื่นล้าน หรือแสนล้านบาท จะยอมมาเสี่ยงหรือ ถ้าเขาไม่มั่นใจว่าเทคโนโลยีที่เขาเลือกใช้นั้น จะสามารถทำได้ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขเรื่องสิ่งแวดล้อมได้
3. การเคารพกฎหมาย คือทางเลือกสุดท้ายที่ทำให้สังคมอยู่ได้อย่างสงบสุข !!!
ผมขออนุญาตกล่าวถึงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และที่ อ.เทพา ซึ่งดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งได้ทำการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามที่กฎหมายกำหนด เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2555 สำหรับโครงการกระบี่ และปี พ.ศ. 2557 สำหรับโครงการเทพา ในท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางความคิดของสังคม เนื่องจากแต่ละฝ่ายได้รับข้อมูลมาต่างกัน เมื่อบวกกับความเชื่อมั่นยึดมั่นในตัวบุคคลก็ดี หรือในจุดยืนของฝ่ายตนก็ดี มีการกล่าวหาโจมตีว่า การทำ EIA/EHIA ไม่โปร่งใส ทำโดยบริษัทหรือผู้รับงานที่ไม่น่าเชื่อถือ ฯลฯ เกิดการประท้วงแสดงความไม่พอใจด้วยการเดินขบวนหรือชุมนุมคัดค้าน พอทำจนถึงขั้นตอนสุดท้ายที่รายงาน EIA/EHIA ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) แล้ว พร้อมที่จะส่งให้ สผ.พิจารณาอนุมัติเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป แต่มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ ซึ่งก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ ออกมาประท้วงคัดค้าน รัฐบาลเองก็ไม่กล้าตัดสินใจ ปล่อยให้ปัญหาคาราคาซัง ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ถ้าหน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณารายงาน EIA/EHIA ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ ก็อาจถูกฟ้องร้องตามมาตรา 157 ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นปฏิบัติ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว สังคมจะอยู่อย่างสงบสุขได้อย่างไร?
ผมพิจารณาจากข้อมูลแวดล้อมโดยถี่ถ้วนแล้ว คิดว่าทางเดียวที่เราจะสามารถยุติความขัดแย้งนี้ได้ในระบอบการปกครองประชาธิปไตย ก็คือการทำประชามติ (Referendum) ของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการโดยตรง เพื่อที่จะให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และอย่างที่ผมได้อธิบายแล้วว่า การผ่านรายงาน EIA/EHIA เป็นเพียงแค่ก้าวแรกของการทำโครงการซึ่งมีอายุไม่น้อยกว่า 25 ปี ความสำคัญที่จะทำให้โครงการนั้น ๆ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดภายใต้ที่กฎหมายกำหนดก็คือ การประเมินติดตามผลการดำเนินงาน โดยที่ชุมชนมีส่วนร่วม ร่วมกับนักวิชาการอิสระนอกพื้นที่ก็ได้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าโครงการที่ดำเนินการนั้น จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน ต่อท้องถิ่น และต่อประเทศชาติในที่สุด
สุรพันธ์ วงษ์โอภาสี
นักวิชาการอิสระ