ประเทศไทยกำลังมุ่งเข็มสู่ ไทยแลนด์ 4.0 หรือการขับเคลื่อนประเทศสู่ความก้าวหน้ายั่งยืนด้วยนวัตกรรมและองค์ความรู้ ในภาคการศึกษาก็เช่นกัน เมื่อเร็วๆนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมมือกับ บจม.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ผู้นำของโลกในการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์เพาเวอร์ซัพพลายและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำ เปิดห้องเรียนอัจฉริยะ (Delta Smart Classroom) ด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ก้าวล้ำด้วยสื่อและการเรียนการสอน พลิกโฉมสู่การเรียนรู้มิติใหม่ของศตวรรษที่ 21 มุ่งสร้างวิศวกรผู้นำที่มีศักยภาพในอาเซียนและนานาชาติ ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษาคนรุ่นใหม่อย่างครบวงจร เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมและองค์ความรู้ โดยผนึกความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี คณะวิศวลาดกระบังเผยในอนาคตจะพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นคณะอัจฉริยะ หรือ Smart Faculty ร่วมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไกลบนเวทีอาเซียนและโลก
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ทำให้ประเทศไทยกำลังมุ่งขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมและองค์ความรู้ ก้าวสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ในอนาคต คณะวิศวลาดกระบัง สจล.จีงได้เปิดห้องเรียนอัจฉริยะ (Delta Smart Classroom) และพัฒนาการเรียนการสอนแบบ Active Learning การเรียนรู้แบบมุ่งผลลัพธ์และเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียนในกิจกรรม ประโยชน์ของห้องเรียนอัจฉริยะช่วยให้ครูอาจารย์ และนักศึกษา สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมกลุ่มย่อย, การบรรยายกลุ่มใหญ่ , การทำโครงงานหรือโครงการต่างๆ และการนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ทางด้านวิศวกรรม (Learning Skill) และทักษะการเรียนรู้จากการสืบค้น (Research Skill) และการคิดวิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง ทางวิศวลาดกระบังเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการเรียนรู้และศักยภาพของแต่ละบุคคล พร้อมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเรียน (Collaborative Learning) ของผู้เรียน และผู้สอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาห้องเรียนในหลายภาควิชาแล้ว ให้มีความเหมาะสม ทันสมัยและก้าวล้ำไปด้วยเทคโนโลยีและเสริมสร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมการศึกษาของเยาวชนให้ก้าวไกล โดยเป้าหมายภายในปี 2560 จะเปลี่ยนเป็นห้องเรียนอัจฉริยะทั้งหมด สำหรับคณะวิศวลาดกระบังยังมุ่งที่จะก้าวไปเป็นคณะอัจฉริยะหรือ Smart Faculty อีกด้วย
ดร.เมทินี จรรยาสุภาพ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า “ห้องเรียนอัจฉริยะ มี 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1.) ผู้สอน (Teacher) 2.)ผู้เรียน (Learner) และ 3.) สื่อ (Media) ทั้ง 3 สิ่งนี้จะช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะขั้นสูงต่างๆ ทางด้านวิศวกรรมให้กับนักศึกษา และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคนรุ่นใหม่ของไทย โดยการให้ผู้เรียนเข้ามาศึกษาหาความรู้และเปิดโลกทัศน์ด้านเครือข่ายเทคโนโลยีและวิศวกรรมในสาขาต่างๆ ที่ทันสมัย เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้งานจริงจากการปฏิบัติที่เป็นพื้นฐานความรู้สู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างเต็มศักยภาพ ดังเช่น ในการเรียนการสอนวันนี้เราได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนหลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ได้ร่วมเรียนรู้ค้นคว้าเกี่ยวกับการใช้วัสดุโพลิเมอร์ ในอุปกรณ์การแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล ในห้องเรียนมีสมาร์ทบอร์ดทันสมัย สามารถเขียนด้วยปากกาเลเซอร์ ผู้เรียนสามารถมีส่วนร่วมแสดงข้อคิดเห็น เล่นเกมและเรียนรู้ทางวิชาการได้สนุกสนาน ครูทำหน้าที่เป็นโค้ชและสามารถเห็นและคอมเม้นท์คำตอบของผู้เรียนบนจอได้ครั้งละ 4 จอ ทำให้ชั้นเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและฝึกฝนการคิดวิเคราะห์อย่างมีประสิทธิภาพ”
มร.เซี๊ยะ เซีย เชน-เยน ประธาน บจม.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “บริษัทฯ ก่อตั้งมาเป็นเวลา 26 ปี โดยเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกชั้นนำรายใหญ่ที่สุดของโลกด้านผลิตภัณฑ์เพาเวอร์ซัพพลายและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้แก่ พัดลมระบายความร้อนไอที, อีเอ็มไอ ฟิลเตอร์ และโซลินอยด์ โดยสายผลิตภัณฑ์หลักด้านการจัดการระบบกำลังไฟฟ้าของบริษัทฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลาย อุปกรณ์ปรับระดับแรงดันไฟฟ้ากระแสตรง (DC-DC converter) และโซลาร์อินเวอร์เตอร์ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ยังสามารถนำไปใช้งานกับอุตสาหกรรมอื่นได้อย่างกว้างขวาง บริษัทฯ มีนโยบายในการช่วยเหลือสังคมและส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญที่จะออกไปมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ความร่วมมือ วัตถุประสงค์ในการสนับสนุนงานด้านวิชาการกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เพื่อผนึกกำลังภาครัฐและเอกชนในการเสริมสร้างศักยภาพของนักศึกษาไทยด้านวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของธุรกิจอุตสาหกรรมทุกสาขา นอกจากนี้เรายังเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ฝึกฝนและเสริมทักษะประสบการณ์กับเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บริษัทฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่าห้องเรียนอัจฉริยะ Smart Classroom ด้านวิศวกรรมศาสตร์แห่งแรกของไทย ซึ่งครบครันด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีทันสมัยแห่งนี้จะอำนวยประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างแรงบันดาลใจในการผสมวิชาการทักษะประสบการณ์และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา สังคมและเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อร่วมพัฒนาสังคมและชุมชน ทั้งทางด้า้นการส่งเสริมการศึกษา ศาสนา การสาธารณสุข และพัฒนาชุมชนในด้านอื่นๆ อาทิ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาด้วยการปฏิบัติงานจริงและพัฒนาห้องเรียนอัจฉริยะให้ตอบสนองต่อความต้องการของนักศึกษาได้
บริษัทฯยังมีแผนงานเปิดเวทีการแข่งขันนานาชาติ เดลต้าคัพ 2016 (DELTA CUP) ซึ่งกำหนดจัดในเดือนกรกฏาคม 2559 ณ เมืองอู๋เจียง ประเทศจีน นับเป็นเวทีท้าทายความสามารถของเยาวชนนักศึกษาในด้านวิศวกรรมระบบอัตโนมัติ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.ประเภทหุ่นยนต์ (Smart Robots) 2.ประเภทเครื่องจักรอัจฉริยะ (Smart Machine) และ 3.ประเภทอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีองค์ความรู้ที่เป็นเทรนด์ของโลกและธุรกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่กำลังเติบโตรวดเร็ว นอกจากนี้ในราวเดือนสิงหาคม 2559 บริษัทฯจะสนับสนุนอุปกรณ์ระบบอัตโนมัติที่ก้าวหน้าทันสมัย (Industrial Automation) เพื่อจัดเป็น ห้อง Smart Lab ที่คณะวิศวลาดกระบัง สจล.สำหรับการฝึกฝนทักษะประสบการณ์ของนักศึกษาไทยกับเทคโนโลยีใหม่ๆในอนาคตอีกด้วย
ดร.รัชนี กุลยานนท์ ผู้ช่วยคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า “Active Learning การเรียนรู้แบบมุ่งผลลัพธ์และเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียนในกิจกรรม ทำให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นมากขึ้น อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการศึกษาและการทำงานของนักศึกษาในอนาคตให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง องค์กร สังคมและเศรษฐกิจ โดยในการปฏิรูปการศึกษาของคณะวิศวลาดกระบังสู่การเป็น Smart Faculty นั้น นอกจากหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนแบบ Active Learning แล้ว สิ่งสำคัญคือ ห้องเรียนอัจฉริยะเพื่อการจัดสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ (Learning Environment) รองรับวิถีใหม่ของโลกที่เปลี่ยนแปลง ครูผู้สอนมีศักยภาพด้าน Active Teaching ต้องคำนึงถึงว่าทำอย่างไรจึงจะให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ (Outcome Base) พึงประสงค์และครบถ้วนตามที่สังคมยุคปฏิรูปการศึกษาได้มุ่งหวังไว้ มิได้สอนเพื่อเด็กเรียนรู้เพียงเพื่อจำเอามาตอบเราได้ หรือเพื่อสอบเท่านั้น แต่ต้องนำไปต่อยอดได้ด้วย”