คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดงานเทศกาลดนตรี SEAMEX2018 พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “LENTHAI” (เล่นไทย) เพื่อยกระดับมาตรฐานทางวิชาการและส่งเสริมพัฒนาแหล่งเรียนรู้เสมือนจริงในรูปแบบออนไลน์ ตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0

0
415
image_pdfimage_printPrint

คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดงานเทศกาลดนตรี SEAMEX2018 พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “LENTHAI” (เล่นไทย) เพื่อยกระดับมาตรฐานทางวิชาการและส่งเสริมพัฒนาแหล่งเรียนรู้เสมือนจริงในรูปแบบออนไลน์ ตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0
อาจารย์ดำริห์ บรรณวิทยกิจ คณบดีคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน SEAMEX 2018 (Southest Asia Music Education Exchange) ซึ่งเป็นสมาคมไม่แสวงหาผลกำไร มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ การสร้างเครือข่ายสมาคมดนตรี และส่งเสริมการสร้างกิจกรรมร่วมกันระหว่างสถาบันดนตรีในภูมิภาคอาเซียน SEAMEX ได้รับการสนับสนุนจาก The Association of Southeast Asia Director of Music (SEADOM) ซึ่งเป็นสมาคมที่เกิดจากการรวมกลุ่มของบุคลากรทางด้านดนตรีในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ยังมีสมาชิกจากประเทศฮ่องกง จีน เยอรมัน สาธารณรัฐเชค เอสโทเนีย สวิตเซอร์แลนด์ และ สหรัฐอเมริกา โดยในปี พ.ศ. 2561 คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน SEAMEX 2018 (Southest Asia Music Education Exchange) ได้จัดกิจกรรม 5 รูปแบบ ได้แก่
– การอบรมและปฏิบัติการทางด้านดนตรี โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรในสมาชิกกลุ่ม SEADOM ที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับดนตรีเครื่องเอก และดนตรีในรูปแบบนั่งบรรเลง
– การจัดประชุมและจัดนิทรรศการ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีอาเซียนจากทั่วโลก มาร่วมบรรยายและนำเสนอแนวคิด มุมมอง และประสบการณ์ที่มีต่อดนตรีอาเซียน
– การวัดระดับวงดนตรีในรูปแบบวงประเภทนั่งบรรเลงและออร์เคสตรา (Symphonic Band) เพื่อเป็นการพัฒนาวงการดนตรีให้มีมาตรฐานสากล อีกทั้งผู้จัดได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิกในระดับภูมิภาคอาเซียน จึงมีการเชิญวงดนตรีในทั่วภูมิภาคอาเซียนรวมไปถึงประเทศฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น มาร่วมแสดงดนตรีเพื่อวัดระดับวงดนตรี โดยวงที่ผ่านการวัดระดับจะได้เหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง ตามลำดับ
– การบรรยายและการแสดงดนตรีแจ๊ส การเรียนการสอนแจ๊สในประเทศไทยเป็นมีความโดดเด่นกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน อันเนื่องมากจากบุคลากรที่มีประสบการณ์ดนตรีแจ๊สทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาดนตรีแจ๊สในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ซึ่งจะมาร่วมให้ความรู้ และโชว์การแสดงดนตรีแจ๊สที่มีกลิ่นอายความเป็นไทย ในแบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน
– การแสดงดนตรี Alveo Concert by Feroci Philharmonic Winds เนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อิตาลี สถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย และ คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกันจัดคอนเสิร์ต Alveo Concert บรรเลงโดย Feroci Philharmonic Winds
นอกจากนี้ในงานเดียวกัน ทางคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้จัดงานเปิดตัว “แอปพลิเคชั่น “LENTHAI” (เล่นไทย)ภายใต้โครงการบูรณาการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับครูดนตรีและนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อยกระดับมาตรฐานทางวิชาการและส่งเสริมพัฒนาแหล่งเรียนรู้เสมือนจริงในรูปแบบออนไลน์ มุ่งเน้นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนไทยโดยการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตในด้านวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรมดนตรี ตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 ในอุตสาหกรรมหลักที่ 5 ได้แก่ Creative, Culture & High Value Service ถือเป็นการนำมรดกทางวัฒนธรรมดนตรีไทยพื้นบ้าน/ ไทยประยุกต์ / และไทยร่วมสมัย ที่มีคุณค่า มีความงดงาม ผสมผสานในรูปแบบที่หลากหลายผ่านโปรแกรมใช้งาน หรือ ซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่น (ในบางครั้งเรียกย่อว่าแอปพลิเคชั่น) เพื่อใช้ประกอบกิจกรรมสำคัญระดับชาติและระดับนานาชาติ รวมถึงงานเชิงพาณิชย์ได้อย่างลงตัว พร้อมทั้งเสนอแนวคิดเพิ่มเติมเพื่อให้ผลผลิตโครงการสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือเยาวชนระดับมัธยมศึกษา
สำหรับลักษณะเนื้อหา (Content) ของแอปพลิเคชั่น เพลงที่นำเสนอ ประกอบด้วยกลุ่มเพลงต่างๆ ได้แก่ เพลงประจำชาติ / เพลงเนื่องในโอกาสพิเศษ / เพลงประจำภาคเนื้อร้อง,ทำนอง,ลักษณะการร้อง บ่งบอกความเป็นมาของท้องถิ่น,เทศกาลสำคัญ ประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ ,สะท้อนวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้นๆ รวมถึงเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบจังหวะได้แก่อะไรบ้าง / เพลงการละเล่นเด็กไทย / เพลงสร้างสรรค์เนื้อร้องและทำนองใหม่ ได้แก่ เพลงแจ๊ส (ฟรีสไตล์) / เพลงคลาสสิค และเพลงเชิงพาณิชย์
โดยฟังก์ชันการทำงานหลัก-ขั้นตอนการเข้าใช้งาน สามารถเข้าสู่ระบบ https://lenthai.com/home โดยการล็อกอินผ่าน Gmail เพื่อบันทึกชื่อและนามสกุลของผู้เข้าใช้งาน สามารถเข้าใช้งานแอปพลิเคชั่น โดยระบบปฏิบัติการบนมือถือ ,แทบเล็ต,Desktop จากนั้น เลือกกดประเภทของผู้เข้าใช้งาน : ครู/ นร. สังกัด สพฐ. หรือบุคคลทั่วไป โดยระบบปฏิบัติการจะให้ผู้ใช้งานสามารถกดเลือก : ชม/ฟัง วิดีโอ , เลือกดู/ ค้นหาตามคำสำคัญ ความนิยม (จำนวนผู้เข้าชม,ผู้ชื่นชอบ) สามารถนับจำนวนผู้เข้าชม , แบ่งปัน/ แชร์ แสดงความชื่นชอบ(Like) หรือร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระบบจะมีการจัดเก็บข้อมูลผู้เข้าใช้งาน เพื่อบันทึกสถิติ จำนวนผู้เข้าใช้งาน ข้อมูลผู้เข้าใช้งาน เวลาที่เข้าใช้งาน พร้อมมีการประเมินผล เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนา ปรับปรุงการทำงานต่อไป เนื่องจากฟีเจอร์สามารถนำไปพัฒนาต่อได้ (เพิ่มเติม)
“ปัจจุบันแอปพลิเคชั่นจะมีความ Interactive Media คือการเรียนแบบโต้ตอบสองทาง, การเรียนรู้อย่างมีปฏิสัมพันธ์ ตรงข้ามกับการสอนในชั้นเรียนซึ่งมักจะเป็นการสื่อสารข้างเดียว สื่อที่ผู้ใช้สามารถมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบได้ เช่น หยุด เล่นซ้ำ หาหัวเรื่องใหม่ ตอบคำถามเพื่อเดินเรื่องไปตามจังหวะที่ผู้รับต้องการ เหมาะสำหรับการเรียนรู้ และการศึกษารายบุคคลตามความถนัดและความสนใจ เกิด Community เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางดนตรีหรือแชร์ประสบการณ์ต่างๆ ร่วมกัน กลุ่มเป้าหมายในที่นี้ไม่เจาะจงเฉพาะครูผู้สอนรายวิชาดนตรีไทยและสากล / นักเรียน ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)เท่านั้น แต่เปิดกว้างสำหรับผู้ที่ชื่นชอบดนตรีไทยพื้นบ้าน / ไทยประยุกต์ / และไทยร่วมสมัย ก็สามารถลงทะเบียน (register) ล็อกอินผ่านระบบเข้ามาใช้งานได้เช่นกัน ซึ่งการล็อกอินผ่านระบบเข้ามาใช้งานนั้น จะทำให้สามารถวัดสถิติจำนวนผู้เข้าใช้งานได้ ซึ่งข้อมูลตามระบุนั้นสามารถนำมาเป็นตัวชี้วัดของโครงการ ดังนั้น การสามารถเข้าถึงของผู้ใช้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ”อาจารย์ดำริห์ กล่าวทิ้งท้าย

————————————————
คณะดุริยางคศาสตร์ ม.ศิลปากร
โทร. 0 2424 5623
โทรสาร 0 2424 5618

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ : ดวงเนตร ชีวะวิชวาลกุล (เอ๋) 081-903 2262