คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – นำโดย สาขาวิชาอุดมศึกษา ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา ร่วมกับ กลุ่มภารกิจวิจัยและบริการวิชาการ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการอุดมศึกษา “THE SMARTER FUTURE OF HIGHER EDUCATION” เพื่อร่วมกันหาแนวทางการรับมือและปรับตัวสู่มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้กล่าวถึงหน้าที่ของอุดมศึกษาแห่งอนาคต ไว้ว่า 1)อุดมศึกษาในอนาคตต้องมุ่งเน้นผลิตบัณฑิต ผลิตบุคลากรออกไปรับใช้สังคมตลาดแรงงานรับใช้ประเทศชาติ ถ้าเราสามารถผลิตได้ตรงตามทักษะผลิตได้ตรงตามดีกรีแน่นอนประเทศชาติก็จะเจริญเพราะเรามีคนเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างตอบโจทย์มากขึ้น 2)มุ่งเน้นผลิตงานวิจัยและส่งมอบงานวิจัยไปให้กับผู้ใช้ประโยชน์ อย่างที่เราทราบกันดีว่ามหาวิทยาลัยเป็นขุมทรัพย์ทางด้านวิชาการเป็นขุมทรัพย์ของคนเก่ง นอกจากการผลิตคนแล้วการผลิตงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จึงมีความสำคัญไม่ว่าจะใช้เรื่องของการตีพิมพ์วารสารในระดับสากล ในประเทศหรือว่าผลิตในเรื่องของการรับใช้สังคมและชุมชนโดยตรงก็ล้วนแต่เป็นประโยชน์แทบทั้งสิ้น 3)มุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้พื้นฐานไปสู่ประเทศชาติ และไปสู่สากลต่างๆ และ 4)ให้บริการสังคมสังคมพัฒนาประเทศ เช่นการฝึกอบรม การพัฒนาชุมชน คำถามคือว่าบทบาทเหล่านี้มหาวิทยาลัยในปัจจุบันมีความพร้อมหรือยัง หรือเราทำหน้าที่ได้ดีพอหรือยัง ก่อนที่เราจะไปดูที่อนาคตเราต้องมาดูก่อนว่าปัจจุบันมันเป็นอย่างไรและอนาคตเป็นอย่างไร โดยมหาวิทยาลัยจะสมาร์ทเทอร์ได้ต้องเริ่มจากการเพิ่มประสิทธิภาพของหลักสูตร และผู้สอนให้ตอบโจทย์กับโลกแห่งอนาคต เพิ่มคุณภาพการศึกษา เสริมสร้างความน่าเชื่อถือในระดับสากล เพิ่มความเร็วเพื่อให้สอดรับกลับการเปลี่ยนผ่านของโลก มีการพัฒนาให้ตรงจุดโดยคำนึงถึงตัวผู้เรียนเป็นหลัก และต้องลดต้นทุน โดยเราต้องทราบว่ามหาวิทยาลัยของเราเสียต้นทุนไปกับจุดใดมากเป็นพิเศษ ถ้าลดได้ก็ควรลดเพื่อนำเอาเงินส่วนนี้ไปเพิ่มให้กับการพัฒนาในส่วนที่สำคัญและจำเป็นอย่างแท้จริง
ดร.ภัทรชาติ โกมลกิติ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นอกจากหน้าที่ของอุดมศึกษาแห่งอนาคตแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกประการหนึ่งคือ แพรตฟอร์มหรือการเข้าถึงการศึกษาในรูปแบบใหม่ เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อให้เราสามารถตามทันโลกและเทคโนโลยีได้เราจึงต้องใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น MOOC (Massive Open Online Course) ถือเป็นหลักสูตรออนไลน์ประเภทหนึ่งที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยเฉพาะ CHULA MOOC ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่อยากนำมาพูดถึงโดยหลักสูตรดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเอื้อให้คนใฝ่เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต โดยเราเชื่อว่านวัตกรรมการเรียนรู้ถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ก้าวทันโลกแห่งอนาคต และไม่ว่าคุณจะเป็นคนวัยใดก็สามารถเรียนด้วยตนเองได้ ทั้งนี้แม้ว่าระบบออนไลน์จะไม่สามารถเข้ามาทดแทนการเรียนการสอนแบบตัวต่อตัวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยเทคโนโลยีก็ถือเป็นเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระการเรียนการสอนทำให้รูปแบบการเรียนมีความยืดหยุ่นและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
“มหาวิทยาลัยในอนาคตอาจไม่ต้องเดินทางมาเรียนยังมหาวิทยาลัยอีกเช่นเดิม แต่สามารถเรียนที่ใดเวลาใดก็ได้ตามความสะดวก ที่สำคัญต้องมุ่งเน้นเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นให้กับตัวผู้เรียนเพื่อให้เขาสามารถนำเอาไปต่อยอดกับการทำงานได้ในอนาคต โดยคุณลักษณะสำคัญ 4 ประการที่ผู้ว่าจ้างต้องการคือ 1. ความฉลาดทางอารมณ์ 2. ความอดทน 3. ความเห็นอกเห็นใจ และ 4. ความซื่อสัตย์ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของจรณทักษะ (Soft Skills) โดยในปัจจุบันสถานประกอบการหลายแห่งได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาจรณทักษะ นอกเหนือจากเกรดเฉลี่ยทางวิชาการ” ดร.ภัทรชาติ กล่าว
ด้าน วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้บริหารบริษัทเดอะสแตนดาร์ด กล่าวว่า นอกจากหน้าที่ของอุดมศึกษาที่ต้องปรับ แพรตฟอร์มที่ต้องเปลี่ยน สิ่งที่ต้องคำนึงอีกประการคือจิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ โดย การศึกษาในปัจจุบันกำลังเดินมาผิดจุดเรามองว่าการศึกษาคือการไปมหาวิทยาลัยแต่ในความเป็นจริงการศึกษาของคนส่วนใหญ่กลับเกิดขึ้นนอกรั้วมหาวิทยาลัย ดังนั้นการศึกษาในอนาคตจึงควรรื้อถอนโครงสร้างการศึกษาใหม่เพื่อเป็นการเปิดประตู และสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ที่หลากหลายให้กับคนในสังคม โดยสิ่งที่จำเป็นกว่าการศึกษาคือการสร้างเครือข่ายใหม่ๆเพื่อให้เกิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้เพื่อให้ทุกคนสามารถออกแบบการเรียนการสอนได้ด้วยตนเองอย่างมีอิสระ นี่คือสิ่งที่เราพึงกระทำ ไม่ใช่ยึดหลักนโยบายสวยหรู “การศึกษาไทยจะมุ่งพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ” พูดได้แต่ทำไม่ได้ เนื่องจากนโยบายเป็นนามธรรม การศึกษาในอนาคตเราต้องยึดที่ตัวผู้เรียนเป็นหลัก เข้าใจและส่งเสริมการตัดสินใจของเขา เพื่อให้เขาได้ทำในสิ่งที่อยากทำ หารายได้จากสิ่งที่เขาชอบ และมีความสุขกับสิ่งที่เขาเป็น ดังนั้นคนรุ่นใหม่แห่งอนาคต “จงอย่ายอมมีชีวิตชนิดที่ต้องทนอยู่กับมันไปตลอดชีวิต”