ข่าวประชาสัมพันธ์ วันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา “องค์อุปถัมภ์ดนตรีคลาสสิกในประเทศไทย

0
586
image_pdfimage_printPrint

ข่าวประชาสัมพันธ์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

“ผู้อุปถัมภ์ดนตรีคลาสสิกในประเทศไทย”

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงส่งเสริมงานด้านศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงสนับสนุนการแสดงดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของวงดุริยางค์ อาทิ วงดุริยางค์เยาวชนไทย วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้เสด็จพระราชดำเนินชมการแสดงดนตรีคลาสสิกอย่างสม่ำเสมอ ทรงสนับสนุนการศึกษาด้านดนตรีคลาสสิกแก่เยาวชนไทยอย่างจริงจัง โดยในปีพุทธศักราช 2543 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อจัดตั้ง “กองทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษาดนตรีของเยาวชน” ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ได้ทรงเปลี่ยนชื่อเป็น “ทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิก” ในพระอุปถัมภ์ฯ เพื่อเปิดโอกาสให้นักดนตรีทุกวัยได้มีสิทธิรับทุนดังกล่าวได้ ทรงเป็นประธานกรรมการกองทุนและทรงร่วมกับคณะกรรมการฯ คัดเลือกผู้สมัครรับทุนด้วยพระองค์เอง

ประวัติสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และกระทรวงวัฒนธรรมที่ร่วมกันจัดทำโครงการจัดตั้งสถาบันดนตรีในรูปแบบของ Conservatory เพื่อเฉลิมพระเกียรติในมงคลวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อชาวไทยตลอดมา รวมทั้งเพื่อสนองพระปณิธานที่จะพัฒนาดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติ ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นองค์ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของคณะกรรมการจัดตั้งสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในเวลานั้น กราบทูลโครงการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาด้านดนตรีให้ทรงทราบ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ ได้มีพระกรุณา
ธิคุณพระราชทานชื่อสถาบันว่า “สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา”

หลังจากการจัดตั้งโครงการในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของโครงการจัดตั้งสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสถานที่บริเวณโรงงานสุราบางยี่ขันเดิมเชิงสะพานพระราม 8 ,ฝั่งธนบุรี เพื่อใช้เป็นพื้นที่จัดตั้งสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา และได้เสด็จฯ ทรงเปิดอาคารอำนวยการสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๔ พร้อมกันนั้นได้รับสั่งกับ ดร.โสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากรซึ่งไปร่วมรับเสด็จฯ ในงานดังกล่าวว่า ให้กรมศิลปากรบูรณะอาคารอนุรักษ์ที่ตั้งอยู่ข้างอาคารอำนวยการ แล้วมอบให้สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการเรียนการสอนต่อไป กรมศิลปากรได้สนองพระราชดำริโดยได้ตั้งงบประมาณ ๓๖ ล้านบาท ต่อเนื่องในปี ๒๕๕๕ และปี ๒๕๕๖ เพื่อบูรณะและจัดสร้างพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เบื้องหน้าอาคาร แล้วเสร็จในปี ๒๕๕๗

หลังจากการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ แล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ๒๕๕๕ อันมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม ๒๕๕๕ โดยสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาได้เปิดอย่างเป็นทางการ และมีการรับสมัครนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา ๒๕๕๗ หลักสูตร ดุริยางคศาสตรบัณฑิต ซึ่งได้จบการศึกษารับปริญญาเป็นรุ่นแรกในปีการศึกษา ๒๕๖๐

ในปี ๒๕๖๑ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงบประมาณและเงินรายได้สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา จำนวน ๒๕,๒๕๐,๐๐๐ บาท ให้ต่อเติมอาคารเรียนเพิ่มเติมเพื่อใช้ประโยชน์เป็นศูนย์ดนตรีไทยและเอเชีย (Thai-Asian Music Center) พัฒนาดนตรีในภูมิภาคเอเชียให้มีความก้าวหน้าและการศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านดนตรี โดยได้ต่อเติมแล้วเสร็จเมื่อปลายปี ๒๕๖๑ โดยได้รับความอนุเคราะห์ก่อสร้างจากกรมการทหารช่าง กองทัพบก นอกจากนี้ในปีการศึกษา ๒๕๖๒ สำนักวิชา ดุริยางคศาสตร์ ได้เปิดทำการเรียนการสอนหลักสูตรดุริยางคศาสตรมหาบัณฑิต (Master of Music Program) เป็นปีแรก

* * * * * * * * *