ข่าวประชาสัมพันธ์
Bangkok Gems & Jewelry Fair รวมพลังดีไซน์เนอร์และผู้ประกอบการ SMEs ไทย
อวดผลงานเครื่องประดับเจาะตลาด Niche Market
นับเป็นเวลากว่า 34 ปี ที่งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ Bangkok Gems & Jewelry Fair (BGJF) เป็นเวทีแสดงศักยภาพและฝีมือของผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับจากนานาประเทศ และถือเป็นงานแสดงสินค้าที่ผู้ผลิตไทยและดีไซเนอร์นำผลงานคอลเล็กชั่นที่โดดเด่น สะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละแบรนด์มาอวดโฉมต่อผู้ชมงานกว่า 20,000 ราย จากกว่า 130 ประเทศ
ในโอกาสครบรอบครั้งที่ 60 ของการจัดงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผู้จัดงาน ได้รวบรวมผู้ผลิตระดับคุณภาพ กว่า 900 บริษัท นอกจากสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ครอบคลุมครบทุกประเภทสินค้าแล้ว ภายในงานยังมีนิทรรศการไฮไลท์กับเครื่องประดับเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Market ซึ่งถือเป็นโอกาสทางการตลาดที่น่าสนใจ โดยมี 5 กลุ่มโดดเด่น ได้แก่ กลุ่มสินค้าเครื่องประดับสำหรับโอกาสพิเศษ (The Moment) เช่น เครื่องประดับในงานหมั้นงานแต่งงาน และวันครบรอบฯ กลุ่มสินค้าเครื่องประดับสำหรับผู้ชาย (Metro Men) ซึ่งเป็นตลาดที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ชายที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ สนใจเรื่องการแต่งกาย กลุ่มสินค้าเครื่องประดับศิลปหัตถกรรม (Heritage & Craftsmanship) สำหรับผู้ชื่นชอบงานฝีมือ งานออกแบบเครื่องประดับที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรากเหง้าทางวัฒนธรรม รวมถึงเทคนิคเชิงช่างที่สืบทอดกันมา กลุ่มสินค้าเครื่องประดับแนวโชคลาง (Spiritual Power) ความเชื่อและของขลัง ซึ่งเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม ทั้งในแง่ศาสนา โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ การบำบัด การเชิดชูจิตใจ และป้องกันภัย และ กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (Beyond Jewelry) อาทิ ของใช้และของประดับที่ตกแต่งด้วยอัญมณี หินพลอยสี โลหะมีค่า ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคระดับบนทั่วโลก
ศรัณญ์ อยู่คงดี นักออกแบบและเจ้าของ แบรนด์ ศรัณย์ (SARRAN) เล่าว่า “ตลาด Niche Market ของแบรนด์ SARRAN คือ Women On Top เป็นเจ้าของธุรกิจที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มมีกำลังซื้อ สนใจสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ไม่สนใจราคาสินค้า และให้ความสำคัญกับความพึงพอใจในสิ่งที่จะเลือกซื้อ การออกแบบสินค้าของ SARRAN แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ Everyday Use ชิ้นงานทั่วไปทำซ้ำได้ง่าย Limited 10 เป็นชิ้นงานที่ทำเงินให้มากที่สุด มีเพียง 10 ชิ้นต่อหนึ่งแบบ และทำด้วยมือ โดยจะมี Serial Number Code ใบการันตี และลายเซ็นทุกชิ้น ซึ่งมีลูกค้าชาวฝรั่งเศสกับอิตาลีสั่งไปเก็บสะสมเป็นประจำ และ Limited 3 ในหนึ่งแบบจะมีชิ้นงานเพียง 3 ชิ้น วางจำหน่ายแค่ชิ้นเดียว ชิ้นที่สองจะเก็บไว้เองหรือถ่ายภาพให้กับสื่อ และชิ้นที่สามจะมอบให้พิพิธภัณฑ์ ซึ่งราคาขายอยู่ที่ชิ้นละ 500,000-700,000 บาท”
ขณะที่ สุพจน์ สุวรรณสิงห์ และ สิริการย์ จิรัฎฐ์ภาสกรกุล นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ สะพรั่ง (Saprang) เครื่องประดับที่เน้นงานทำมือหรืองานคราฟท์ เล่าว่า “เทคนิคในงานเครื่องประดับของสะพรั่งนั้นค่อนข้างหลากหลาย ด้วยงานทุกชิ้นผลิตขึ้นด้วยมือตนเอง และค้นพบแนวทางใหม่ๆ ระหว่างการทำงาน เรารู้สึกว่าน่าจะทำอะไรได้มากกว่าการเป็นเครื่องประดับ จึงนำทักษะเหล่านี้ไปสร้างเป็นของแต่งบ้านได้ ทำ Wall Art หรือผลงานศิลปะเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือเด็กพิการปากแหว่งเพดานโหว่ ที่หลายครอบครัวฐานะยากจน สำหรับลูกยางแขวนที่ออกแบบในลักษณะแชนเดอเลีย หลังจากที่นำไปตกแต่งร้านของตนเองที่เอกมัย ก็ได้ยินเสียงตอบรับที่ดีมาก อีกผลงานที่ได้รับความสนใจคือช้อนกรองชา ซึ่งบางคนไม่ได้ซื้อไปใช้ แต่นำไปเป็นของขวัญ หรือสะสม ส่วนงานเข็มกลัดไม้ไผ่นี้เกิดจากการเห็นการตัดไม้ไผ่ในต่างจังหวัด และเศษไม้ไผ่จำนวนมากถูกทิ้ง เรารู้สึกว่ามันเป็นวัสดุธรรมชาติที่สวยมาก จึงนำมาเก็บไว้ แล้วค่อยๆ ออกแบบจนเป็นเข็มกลัด ซึ่งไม้ไผ่แต่ละข้อนั้นถูกออกแบบมาด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่ละข้อจะไม่เหมือนกันเลย จึงตัดออกมาแล้วก็ใช่ทักษะของเราในการทำต้นแบบ สำหรับเครื่องประดับจากวัสดุทั่วไป เมื่อทำถึงชิ้นที่ 9 ก็จะรู้แล้วว่าชิ้นที่ 10 จะเป็นอย่างไร แต่ทำงานไม้ไผ่สนุกมาก เพราะไม่รู้เลยว่าแต่ละชิ้นจะออกมาหน้าตาอย่างไร รู้สึกเหมือนทำงานชิ้นใหม่ตลอดเวลา สิ่งที่เราสื่อสารออกไปผ่านเครื่องประดับนี้ ทำให้คนที่เห็นเกิดความรู้สึกอยากทำตามบ้าง ช่วยกระตุ้นให้คนเกิดไอเดียไปทำต่อ แน่นอนว่าสะพรั่งไม่ได้อยากขายอย่างเดียว แต่ถ้ามันส่งเสริมให้คนเกิดไอเดียขึ้นมาได้ต่อไปก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดี”
นิทรรศการ The Niche Showcase ทั้ง 5 กลุ่ม คัดสรร 9 แบรนด์ชั้นนำ ได้แก่ M.C.L. by Matthew Campbell Laurenza, Rajdamri Gems, Arquetype, Sarran, Saprang, Deesawat, Trimode Accessories, Tithi Kutchamuch และ This Means That ร่วมด้วยคูหา New Faces จัดแสดงผลงานของผู้ผลิต และนักออกแบบไทยระดับ SMEs ฝีมือประณีตจากทั่วประเทศ ซึ่งไม่เคยเข้าร่วมงาน BGJF มาก่อน กว่า 50 ราย อาทิ Airin Princess Diamond, Charming Realism, Dallar Jewelry, Cute Company, Inclear Co., Ltd., Lew Gems, Laithai Silverware Co., Ltd., Panhathai และ Thai Silp Factory Co., Ltd.
ร่วมภาคภูมิใจในมรดกงานศิลป์ที่ต่อยอดสู่สากล กับผลงานเครื่องประดับฝีมือไทยทำในนิทรรศการ The Niche Showcase และ The New Faces ภายในงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair ครั้งที่ 60 จัดถึงวันที่ 10 กันยายน 2560 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพค เมืองทองธานี ชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bkkgems.com
**********