โฆษกแรงงาน เผย กระทรวงแรงงาน มีมาตรการรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ยืนยัน ไม่ทำให้
คนตกงาน มั่นใจ การเข้ามาของเทคโนโลยีไม่กระทบต่อกลุ่มแรงงาน พร้อมเดินหน้าบริหารจัดการแรงงาน
ในพื้นที่อีอีซี เตรียม 30,000 ตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศ ส่งเสริมการมีงานทำตามความต้องการของนายจ้าง ฝึกทักษะแรงงานเพิ่มให้มีทักษะหลายด้าน บูรณาการหน่วยเกี่ยวข้อง ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องตลาดแรงงานในอนาคต
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2561 นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้นำกลุ่มแรงงานแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ว่าทำให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากตกงาน เนื่องจากปรับตัวไม่ทันนั้น ในเรื่องดังกล่าวกระทรวงแรงงาน ขอยืนยันว่า นโยบายประเทศไทย 4.0 ไม่ส่งผลทำให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากต้องตกงานตามที่ปรากฎเป็นข่าวแต่อย่างใด และปัจจุบันรัฐบาล โดยกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมมาตรการรองรับนโยบายดังกล่าวไว้แล้ว ส่วนกรณีที่นักวิชาการเกรงว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนจะทำให้มีผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานนั้น ในเรื่องนี้กระทรวงแรงงานยืนยันว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จะไม่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงาน ขณะเดียวกันหากมีผลกระทบเกิดขึ้นจริงกระทรวงแรงงานก็มีแนวทางรองรับไว้อยู่แล้ว
นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันรัฐบาล ได้กำหนดวิสัยทัศน์เชิงนโยบายที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อที่จะเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ในส่วนของภาคแรงงานก็จะปรับเปลี่ยนจากแรงงานที่มีทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้และทักษะสูง ในการเตรียมความพร้อมของกำลังแรงงานในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ กระทรวงแรงงานจะเปิดศูนย์บริหารจัดการแรงงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อพัฒนาแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ EEC และบรรเทาปัญหาแรงงานส่วนเกินในพื้นที่อื่นได้
ในด้านการส่งเสริมการมีงานทำ กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ได้ตั้งศูนย์ที่นี่มีงานทำ Job Ready Center เพื่อบริหารจัดการแรงงานให้มีงานทำตามความรู้ ความสามารถ ทักษะของแรงงาน และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการโดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
การแปรรูปอาหาร เป็นต้น และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลได้ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังได้เตรียมตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศรองรับกว่า 30,000 อัตรา สำหรับผู้ที่ตกงานหรือเปลี่ยนงานใหม่ การส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้านการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ
กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานยังมีโครงการฝึกอบรมทักษะเพิ่มเติม (Re -skill) เพื่อให้สอดคล้องกับตำแหน่งงานใหม่และเปลี่ยนทักษะแรงงานไปทำงานในประเภทกิจการอื่นที่ยังต้องการแรงงานจำนวนมากรวมทั้งการฝึกทักษะแรงงานให้มีทักษะหลายด้าน (Multi-Skill) เพื่อให้สามารถทำงานได้หลายตำแหน่งการส่งเสริมให้นายจ้างพัฒนาทักษะฝีมือของลูกจ้างในสถานประกอบการเพื่อให้สามารถเปลี่ยนตำแหน่งภายในสถานประกอบการของตนเองได้ โดยนายจ้างจะได้สิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2557
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน ยังได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแนวทางประชารัฐ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ นายจ้าง สถานประกอบการ ตลาดแรงงาน ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน สนับสนุนสถานประกอบการ รองรับการขยายตัวของสายงานที่มีความต้องการในอนาคต อาทิ งานด้านวิศวกรรม ไอที บัญชีและการเงิน การแพทย์ ธุรกิจอิสระ การออกแบบ และอาชีพทางเลือก เป็น
————————————–
กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ – ข่าว/
สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน/
2 กันยายน 2561