กระทรวงแรงงาน เผยที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.61 ณ ตึกรัฐสภา มีมติเป็นเอกฉันท์ รับหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … จำนวน 177 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ไม่รับหลักการ 0 เสียง พร้อมตั้งกรรมธิการพิจารณาร่างให้เสร็จภายใน 30 วัน
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับมาเป็นเวลานานทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และไม่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินการเพื่อให้ความคุ้มครองลูกจ้างจึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้การเปลี่ยนแปลง ตัวนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานโดยได้รับค่าจ้าง ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์สามารถลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรได้โดยถือเป็นวันลาเพื่อคลอดบุตร เพิ่มอัตราค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป กำหนดให้การย้ายสถานประกอบกิจการรวมทั้งการย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่ หรือสถานที่อื่นของนายจ้าง และแก้ไขให้นายจ้างกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดในอัตราเท่ากันทั้งลูกจ้างชายและหญิงในงานที่มีค่าเท่าเทียมกันเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน จะทำให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติตามกฎหมาย และลูกจ้างได้รับการคุ้มครองตามสิทธิขั้นพื้นฐานมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ประชุมสนช. มีมติเป็นเอกฉันท์รับหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … จำนวน 177 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ไม่รับหลักการ 0 เสียง และให้ตั้งกรรมธิการพิจารณาร่างฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน