1

ก.แรงงาน เผยสถิติประสบอันตรายลดลงเกินเป้า

กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผยสถิติการประสบอันตราย
จากการทำงานลดลงเกินเป้า พร้อมเผยการดำเนินการตรวจเข้มความปลอดภัยในการทำงานตามมาตรการ ย้ำดำเนินการต่อเนื่องตามมาตรการ ๓-๓-๒ แม้ผลการประสบอันตรายลดลงน่าพอใจ
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เปิดเผยว่า การประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างนับเป็นความสูญเสียสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตัวลูกจ้าง ครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของประเทศ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ให้ความสำคัญกับการดำเนินการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้กำหนดให้เรื่องของความปลอดภัยในการทำงานเป็นหนึ่งใน ๘ วาระปฏิรูปแรงงาน จากการดำเนินงานที่ผ่านมาส่งผลให้สถิติการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างกรณีร้ายแรง(เสียชีวิต ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะบางส่วน และหยุดงานเกินสามวัน) ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี พ.ศ. ๒๕๕๗ มีการประสบอันตรายเท่ากับ เท่ากับ ๓.๔๔ ต่อ ๑,๐๐๐ ราย และปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เท่ากับ ๓.๑๕ ต่อ ๑,๐๐๐ ราย สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ ช่วง ๖ เดือนแรก (วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐) เปรียบเทียบในห้วงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙ พบอัตราการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้าง กรณีร้ายแรงเท่ากับ ๑.๓๙ ต่อ ๑,๐๐๐ ราย ลดลงร้อยละ ๗.๕๖ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งลดลงเกินกว่าเป้าหมายของกสร.ที่ตั้งไว้ว่าลดลงอย่างน้อยร้อยละ ๕ ต่อปี
อธิบดีกสร.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน ๒๕๖๐ ที่ผ่านมากสร.ได้ดำเนินการตรวจจะตรวจในประเภทกิจการที่มีการใช้ปั้นจั่นหรือเครน และกิจการที่มีการใช้สารเคมี
ตามมาตรการ ๓-๓-๒ มีสถานประกอบกิจการที่การใช้ปั้นจั่นผ่านการตรวจ จำนวน ๕๘๐ แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง ๖๔,๕๔๖ คน มีการออกคำสั่งปรับปรุง ๒๐๑ แห่ง ส่งเรื่องดำเนินคดี ๔ แห่ง สถิติการประสบอันตรายลดลงร้อยละ ๓๘.๒๗ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ด้านความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายมีสถานประกอบกิจการผ่านการตรวจ จำนวน ๙๔๔ แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง ๑๒๐,๗๙๕ คน มีการออกคำสั่งปรับปรุง ๒๗๐ แห่ง ส่งเรื่องดำเนินคดี ๑ แห่ง สถิติการประสบอันตรายลดลงร้อยละ ๒๙ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าการดำเนินการได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างไรก็ตามกสร.จะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผลการดำเนินการเป็นไปอย่างยั่งยืน
สำหรับมาตรการ ๓ – ๓ – ๒ เป็นการดำเนินงานตามแผน ๘ วาระปฏิรูปเร่งด่วนของกระทรวงแรงงาน โดยแผนดังกล่าวจัดเป็นแผนปฏิบัติการเพื่อคุ้มครองอันตรายที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ประกอบด้วย ๓ เดือนแรก คือ ก.พ.- เม.ย.๖๐ จะตรวจสอบความปลอดภัยการทำงานใน ๕ ประเภทกิจการ ได้แก่ ๑.กิจการที่มีการใช้ปั้นจั่นหรือเครน ๒.กิจการที่มีการใช้สารเคมี ๓.กิจการขนส่งทางบก ๔.กิจการที่มีการใช้แรงงานเด็ก และ๕.กิจการเกี่ยวกับประมงและต่อเนื่อง ๓ เดือนที่สอง คือ พ.ค.- ก.ค.๖๐ จะตรวจใน ๓ ประเภทกิจการ ได้แก่ ๑.กิจการที่มีการใช้เครื่องบด/เครื่องตัดโลหะ ๒.กิจการที่มีการทำงานในที่
อับอากาศ ๓.กิจการที่มีการทำงานในที่สูง สำหรับระยะสุดท้ายช่วง ส.ค.-ก.ย. ๖๐ จะตรวจใน ๒ ประเภทกิจการ ได้แก่ ๑. กิจการก่อสร้าง ๒.การป้องกันและระงับอัคคีภัย
———————————————–