รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดประชุมวิชาการด้านการตรวจแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 8 ภายใต้หัวข้อ “การสร้างงานที่มีคุณค่าในภาคประมงผ่านการตรวจแรงงานในอาเซียน” มุ่งพัฒนาการตรวจคุ้มครองแรงงานประมงให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องมาตรฐานสากล เสริมสร้างความร่วมมือเครือข่ายอาเซียน พร้อมเดินหน้าอนุสัญญาฉบับที่ 188 ลงสู่การปฏิบัติ
หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในฐานะประธานเปิดการประชุมวิชาการด้านการตรวจแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 8 ในวันที่ 18 ธันวาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ ว่า การตรวจแรงงานถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในระบบบริหารจัดการด้านแรงงาน มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงาน และให้เกิดการจ้างงานที่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในภาคประมง เนื่องจากมีสภาพการจ้างและการทำงานไม่เหมือนงานทั่วไป สภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นอันตราย และสภาพการทำงานและการอยู่อาศัยบนเรือที่มีลักษณะเฉพาะ รวมทั้ง มีการดำเนินกิจกรรมข้ามทะเลอาณาเขตของประเทศต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการฝ่าฝืนการคุ้มครองสิทธิแรงงานได้ เพื่อให้เกิดการดำเนินการคุ้มครองสิทธิแรงงานกลุ่มนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความร่วมมือของรัฐเจ้าของท่าด้วย จากปัญหาดังกล่าวนำมาสู่การประชุมวิชาการว่าด้วยการตรวจแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 8 ภายใต้หัวข้อการจัดงาน “การสร้างงานที่มีคุณค่าในภาคประมงผ่านการตรวจแรงงานในอาเซียน” นี้ มุ่งหวังที่จะส่งเสริมและพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการคุ้มครองสิทธิแรงงานในภาคประมง รวมทั้งการสร้างแนวทางร่วมของภูมิภาคอาเซียนในการสร้างงานที่มีคุณค่าสำหรับคนงานในภาคประมง โดยอ้างอิงมาตรฐานระหว่างประเทศด้านแรงงาน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ฉบับที่ 188 พร้อมที่จะสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวและนำข้อบทของอนุสัญญาลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานและสร้างงานที่มีคุณค่าในภาคประมงต่อไป
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมวิชาการว่าด้วยการตรวจแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 8 จัดขึ้นตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐเวียดนาม ซึ่งเห็นชอบให้มีการจัดประชุมวิชาการด้านการตรวจแรงงานอาเซียนขึ้นเพื่อเป็นเวทีสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนและภาคีเครือข่ายของอาเซียนในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการและวางระบบการตรวจแรงงานในประเทศสมาชิก โดยได้ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการดังกล่าวครั้งแรกใน ปี พ.ศ. 2553 และครั้งนี้เป็นการประชุม ครั้งที่ 8 ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในวาระที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปี พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวที่ประชุมจะร่วมกันจัดทำข้อสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกลยุทธ์การตรวจแรงงาน นวัตกรรม การพัฒนาศักยภาพที่จำเป็น และแนวทางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานของประเทศสมาชิกเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานสามารถสร้างงานที่มีคุณค่าในภาคประมงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศด้านแรงงาน