1

ก.แรงงาน สั่งจัดงานรองรับลูกจ้างเอเพ็กซ์ สมุทรสาคร กว่า 700 อัตรา

กระทรวงแรงงาน ช่วยเหลือลูกจ้างบจก.เอเพ็กซ์ เซอร์คิต (ไทยแลนด์) 220 คนที่ถูกเลิกจ้างอย่างต่อเนื่องประสานสถานประกอบกิจการในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครจัดงานรองรับ 744 อัตรา พร้อมติดตามการได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอย่างใกล้ชิด
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการความช่วยเหลือลูกจ้างของบริษัท เอเพ็กซ์ เซอร์คิต (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ถูกเลิกจ้างว่า ตามที่หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้การช่วยเหลือลูกจ้างอย่างใกล้ชิดนั้น ซึ่งจากการที่พนักงานตรวจแรงงานลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริง พบว่า การเลิกจ้างดังกล่าวมีสาเหตุจากบริษัทฯ ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจึงได้ใช้มาตรการลดจำนวนการผลิต และเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่ผ่านการทดลองงาน ซึ่งบริษัทฯ มีระยะเวลาทดลองงาน 120 วัน มีลูกจ้างที่ทดลองงานจำนวน 329 คน ผ่านการทดลองงาน 109 คน โดยบริษัทฯได้มีการเลิกจ้างลูกจ้างไปแล้วเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 จำนวน 155 คน และเตรียมเลิกจ้างเพิ่มเติมอีก 65 คน รวม 220 คน ซึ่งการเลิกจ้างดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 3.56 จากลูกจ้างทั้งหมดของบริษัทที่มีจำนวน 6,185 คน ทั้งนี้ พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาครได้ชี้แจงสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายแก่นายจ้างลูกจ้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะติดตามการจ่ายค่าจ้างและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของนายจ้างให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และเพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างเพิ่มเติม กระทรวงแรงงานได้ประสานกับสถานประกอบกิจการในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครที่มีความประสงค์ จะรับพนักงานในเบื้องต้นมีสถานประกอบกิจการแจ้งความจำนงหลายแห่ง ประกอบด้วย บริษัท มารีนโกลด์โปรดักส์ จำกัด ประกอบกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ แจ้งความประสงค์จะรับลูกจ้าง เข้าทำงานจำนวน 300 อัตรา ตำแหน่งฝ่ายผลิต, บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด ประกอบกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ แจ้งความประสงค์รับลูกจ้างที่มีวุฒิการศึกษาตั้งแต่ ม.3 ขึ้นไป จำนวน 50 อัตรา ตำแหน่งตรวจสอบ และบริษัท แคล-คอมพ์ อิเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ประสงค์รับจำนวน 100 คน และยังมีบริษัทอื่นๆอีก 33 บริษัท ซึ่งมีความประสงค์รับลูกจ้าง จำนวน 294 อัตรา รวม 744 อัตรา ทั้งนี้ได้แจ้งให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทราบแล้ว
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร จำนวน 73 แห่ง จะร่วมกันหาแนวทางให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างด้วย โดยจะหาตำแหน่งงานว่างและรับสมัครงาน เพื่อให้ลูกจ้างได้มีงานทำและอยู่ในพื้นที่เดิม อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานจะติดตามให้ความช่วยเหลือลูกจ้างอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายต่อไป