วันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 พลตำรวจโท จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน เปิดการอบรมชี้แจงกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน จัดโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา แม่สอด จังหวัดตาก
พลตำรวจโท จารุวัฒน์ ไวยศยะ ผู้ช่วยบัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมชี้แจงกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานว่า การคุ้มครองดูแลแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงาน ในประเทศไทย โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานผ่านการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และเนื่องจากประเทศไทยได้มีการประกาศใช้กฎหมายในปี พ.ศ. 2562 จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 จึงจำเป็นต้องสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ประกอบกับในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและมีการลงทุนในธุรกิจด้านการผลิตเครื่องนุ่งห่ม อันเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศ
และเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ได้มีการระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preference : GSP) โดยอ้างเหตุผลว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยยังไม่สามารถยกระดับสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดการอบรมครั้งนี้ขึ้น ซึ่งในการอบรมดังกล่าวนอกจากจะได้มีการชี้แจงสิทธิ หน้าที่ตามกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้วยังได้มีการชี้แจงสิทธิตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจ้างแรงงานต่างด้าว เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องซึ่งประกอบด้วย ลูกจ้าง นายจ้าง พนักงานตรวจแรงงาน เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคม ได้ความรู้ ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดและทำให้แรงงานได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายต่อไป