ก.แรงงาน มุ่งลดการประสบอันตรายของลูกจ้าง สร้างเครือข่ายความปลอดภัยในการทำงาน
กระทรวงแรงงาน จัดโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายความปลอดภัยในการทำงาน มุ่งส่งเสริม การรวมกลุ่มเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) พัฒนาศักยภาพเครือข่ายความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในฐานะประธานในพิธีเปิดงานว่า กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมีนโยบายหลัก ๓ ประการ คือ ๑) สร้างการรับรู้และจิตสำนึกด้านความปลอดภัยฯ ๒) เคร่งครัดการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความปลอดภัยฯ และ ๓) สร้างกลไกประชารัฐในการดำเนินการด้านความปลอดภัยฯ ผ่านกลยุทธ์การจัดการภายใต้แผนแม่บทความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ การขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” ตลอดจนสร้างกลไกการดำเนินงานให้เอื้อต่อการดูแลกลุ่มเป้าหมายในระดับพื้นที่ ที่เชื่อมโยงและสอดรับแนวนโยบายรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของประเทศ คือ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ กำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานขึ้นทะเบียนสะสมกับกระทรวงแรงงาน ทั้งสิ้น ๗๔๓,๙๕๖ คน แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน ๕๑๔,๘๐๑ คน ระดับบริหาร ๑๘๔,๘๙๗ คน ระดับเทคนิค ๑๒,๑๖๙ คน ระดับเทคนิคขั้นสูง ๒,๓๔๑ คน และระดับวิชาชีพ ๒๙,๗๔๘ คน ดังนั้น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานถือเป็นเครือข่ายความปลอดภัยแรงงานที่สำคัญในการผลักดันนโยบาย ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทยบรรลุเป้าประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงาน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานให้เป็นเครือข่ายความปลอดภัยแรงงานในการเฝ้าระวังความปลอดภัยและโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน และการเสริมสร้างศักยภาพ ความเข้มแข็งของเครือข่ายความปลอดภัยแรงงาน สามารถสนับสนุนการพัฒนาและการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน จึงได้มอบนโยบายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาความเข้มแข็งเครือข่ายความปลอดภัยแรงงานอย่างยั่งยืนขึ้น โดยมุ่งเน้นการอบรมให้ความรู้ พัฒนาทักษะ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้แก่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานที่เป็นเครือข่ายความปลอดภัยแรงงาน จำนวน ๒ หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร “การพัฒนาศักยภาพเชิงเทคนิควิชาการ” จำนวน ๑๐ รุ่น และหลักสูตร “การเสริมสร้าง ความเข้มแข็งของเครือข่ายความปลอดภัยในการทำงาน” จำนวน ๒ รุ่น ซึ่งในวันนี้ เป็นหลักสูตร “การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายความปลอดภัยในการทำงาน” รุ่นที่ ๑ มีผู้เข้าร่วมโครงการ ทั้งสิ้น ๑๐๐ คน เป็นประธานและผู้แทนชมรม/สมาคมเครือข่ายความปลอดภัยแรงงาน และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานจากทั่วประเทศ