กระทรวงแรงงานมุ่งมั่นและพร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานในการยกระดับมาตรฐานงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทยสู่ระดับสากล นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนา บูรณาการ และเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
นายบุญเลิศ ธีระตระกูล รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน วันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากลปี ๒๕๖๐ (World Day for Safety and Health at Work 2017) เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุมกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ส่วนแยกตลิ่งชัน) เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ว่า การจัดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล ปี ๒๕๖๐ เป็นการจัดงานเช่นเดียวกับประเทศสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศทั่วโลก เพื่อแสดงออกถึงความมุ่งมั่นและความพร้อมที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานในการยกระดับมาตรฐานงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทยสู่ระดับสากล ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ ๑๘๗ ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย พ.ศ.๒๕๔๙ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๐ นับจากวันที่ให้สัตยาบันประเทศไทยได้แสดงถึงความมุ่งมั่นด้านความปลอดภัยของแรงงานไทย โดยประกาศใช้แผนแม่บทความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔) และประกาศระเบียบวาระแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” ระยะที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๙) และสิ่งที่สำคัญคือการที่รัฐบาลกำหนดนโยบาย “Safety Thailand” เพื่อให้กระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องบูรณาการงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างเป็นรูปธรรม
นายวชิระ ศรีบัวชุม ผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากลในปีนี้ มีกรอบแนวคิดคือ “เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บและการใช้ข้อมูลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย : สร้างความเข้มแข็งของรากฐานวัฒนธรรมการป้องกัน” ประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของอาเซียน (ASEAN-OSHNET) และได้รับการมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านสารสนเทศของเครือข่ายฯ ได้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลในการจัดเก็บข้อมูลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศสมาชิก เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนางานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศในภูมิภาคอาเซียนสู่ระดับสากล เพราะข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือจะนำไปสู่การวางแผนงานที่ถูกต้องและมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพ จึงได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนา บูรณาการ และเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ในแผนแม่บทฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรวบรวมและใช้ข้อมูลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศ โดยระยะสั้นเริ่มจากภาครัฐและถ่ายทอดไปสู่ภาคเอกชนในระยะยาวซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาประเทศโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน