ก.วิทย์ฯ นำ นวัตกรรมยานพาหนะสมัยใหม่ และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ผลงานวิจัยร่วมผู้ประกอบการไทยโชว์ทำเนียบรัฐบาล

0
1013
image_pdfimage_printPrint

ก.วิทย์ฯ นำ นวัตกรรมยานพาหนะสมัยใหม่ และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
ผลงานวิจัยร่วมผู้ประกอบการไทยโชว์ทำเนียบรัฐบาล

ณ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ – ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (รมว.วท.) พร้อมด้วยพลเอก นาวิน ดำริกาญจน์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง นำทีมคณะผู้บริหารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ในกลุ่มบริษัทโชคนำชัย จัดแสดงผลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมที่ร่วมกันดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น เรืออลูมิเนียม รถโดยสารอลูมิเนียมโครงสร้างน้ำหนักเบา รถโดยสารไฟฟ้า และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เยี่ยมชมก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบศักยภาพ และความพร้อมของภาคเอกชน และการร่วมมือกับหน่วยงานรัฐเพื่อกระตุ้นและเสริมแกร่งความเข้มแข็งทางด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตของผู้ประกอบการไทย รวมถึงการส่งเสริมให้คนไทย หน่วยงานไทย ได้เริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ของไทย

ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ฯ รมว.วท. เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 สนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนากับกลุ่มบริษัท โชคนำชัย ในการวิจัยและพัฒนาโครงสร้างเรือ และรถโดยสาร โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) หน่วยงานในสังกัด สวทช. ด้วยการใช้กลไกของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) หรือไอแทป รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การยื่นขอรับการพิจารณาบัญชีนวัตกรรม และการลดภาษี 300% ซึ่งการดำเนินโครงการต่างๆ นั้น ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ช่วยให้บริษัท โชคนำชัย และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่นฯ สามารถพัฒนากระบวนการผลิตโดยมีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา ซึ่งความร่วมมือก้าวต่อไปนั้น กระทรวงวิทย์ฯ จะร่วมวิจัยและพัฒนายานพาหนะสมัยใหม่ รวมถึงชิ้นส่วน โครงสร้าง องค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์ การออกแบบ และผลิตโครงสร้างน้ำหนักเบา นอกจากนี้ ยังจะร่วมพัฒนาบุคลากรและกำลังคนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียานพาหนะสมัยใหม่ เพื่อสร้างองค์ความรู้ และยกระดับศักยภาพในการผลิตยานยนต์ เพื่อคนไทยให้เกิดขึ้นในประเทศต่อไป

โดยชิ้นงานที่นำมาแสดง ประกอบด้วย เทคโนโลยีป้องกันประเทศ (หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุต้องสงสัย, จรวดดัดแปลงสภาพอากาศเพื่อใช้ในการทำฝนเทียม) เรืออลูมิเนียม (เรือสปีดโบ๊ท, เรือโดยสารท้องเดียว และสองท้อง, เรือตรวจการ, เรือกู้ภัย/พยาบาล) รถอลูมิเนียม (โครงสร้างรถโดยสาร) และตัวอย่าง Advance Mat’l (โครงสร้างน้ำหนักเบาที่เป็นวัสดุขั้นสูง) ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เรืออลูมิเนียม พร้อมระบบช่วยลอยตัว
เรือ Aluminum เป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาด แต่ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ด้านการขึ้นรูป ระยะเวลาในการผลิต ฯ บริษัทฯ จึงได้คิดค้นทำการวิจัยและพัฒนา Aluminum boat เพื่อตัดข้อจำกัดดังกล่าว พร้อมร่วมมือกับ สวทช. วิจัยและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ มีการใส่ Foam EVA ใต้ท้อง ให้สามารถลอยตัวกรณีน้ำเข้า มี Safety Platform กั้นเครื่องท้ายเรือ และหลังคาแข็ง เพื่อให้เรือมีมาตรฐานและความปลอดภัยเทียบเท่ามาตรฐานที่นำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมสั่งเตรียมพัฒนาเรืออื่น ๆ เช่น เรือโดยสาร 2 ท้อง เรือกู้ภัย/เรือลาดตระเวณ รวมถึงเรือไฟฟ้า และเรือไร้คนขับ

รถโดยสารอลูมิเนียม
บริษัทได้นำสิ่งที่วิจัยและพัฒนากับเรือมาต่อยอดผลิต Aluminum Bus สัญชาติไทย ที่มีโครงสร้างน้ำหนักเบา ขึ้นรูปโดยการปั๊มและฉีดแบบลดรอยต่อ เสริมความแข็งแรงของโครงสร้างตามจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น มุมโครงสร้างหลังคา จุดที่ต้องรับแรงข้างที่นั่งผู้โดยสาร ฯลฯ ผสมผสานกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ความสะดวกสบายให้ผู้โดยสาร และจะช่วยผู้ประกอบการในการลดต้นทุนเชื้อเพลิงและการลงทุน เนื่องจากมีอายุการใช้งานยาวนาน โดยมีแผนวิจัยและพัฒนาทั้ง Bus Diesel, Bus EV (โดยใช้ E-Body, E-Platform) ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการพัฒนารถไฟฟ้า สามารถนำไปใช้พัฒนาและต่อยอดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมนี้ ได้ร่วมกับ สวทช. ในการพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ โดยมีแผนรวมกลุ่มบริษัทไทยที่มีนวัตกรรมในแต่ละด้านมาพัฒนาร่วมกัน (Consortium) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทย และการพัฒนาองค์ความรู้อย่างยั่งยืน

อุปกรณ์เทคโนโลยีป้องกันประเทศ
– EOD ROBOT (หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุต้องสงสัยขนาดเล็ก)
โครงสร้างผลิตด้วยแม่พิมพ์ขึ้นรูป และวัสดุเป็นอลูมิเนียม ทำให้มีน้ำหนักเพียงแค่ 25 กิโลกรัม สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 1.5 เมตรต่อวินาที และชุดแขนกลสามารถรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 6 กิโลกรัม สามารถขึ้นที่สูงและลงต่ำได้ 35 องศา รวมถึงยังสามารถปฏิบัติงานในพื้นที่น้ำท่วมขังได้ถึงร้อยละ 90 ของความสูงโครงสร้างฐานหุ่นยนต์ ซึ่งมีการทำงานแบบไร้สาย (Wireless) ได้ในระยะมากกว่า 150 เมตร (None Line of Sight)

– Weather Modification Rockets (จรวดดัดแปลงสภาพอากาศ)
ผลิตชิ้นส่วนทางกลสำหรับจรวดดัดแปรสภาพอากาศครบชุด มีชุดมอเตอร์จรวด ชุดพ่วงหาง ตัดจุดจรวด ชุดส่วนหัวและส่วนบรรจุ และที่สำคัญคือชุดฉนวนส่วนท้าย (Rear Insulation Nozzle) เพื่อทำต้นแบบชิ้นส่วนจรวดดัดแปรสภาพอากาศ โครงการวิจัยและพัฒนาจรวดดัดแปรสภาพอากาศ

ทางด้านนายวีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่ได้ร่วมมือกับสวทช. เริ่มต้นผลิตงานนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์เรื่องความ-ปลอดภัยทางด้านคมนาคม และยกระดับการท่องเที่ยวด้วยยานพาหนะสมัยใหม่นั้น ทางเราได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ทางภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ อาทิเช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับแนวทางเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัย ซึ่งได้เสียงตอบรับในการสนับสนุนผลักดันในด้านต่าง ๆ เป็นอย่างดี

นอกจากนี้เรายังได้นำความรู้ความชำนาญมาพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศให้สามารถกลายเป็นการผลิตแบบภาคอุตสาหกรรมได้ โดยมีหลายบริษัทในไทยที่มีศักยภาพและความพร้อม รวมถึงความร่วมมือกับสทป. (สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ) และสวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ทำให้เกิดการบูรณาการในทุก ๆ ด้านอีกด้วย

วันนี้ถือเป็นอีกวันที่ได้มีโอกาสให้ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เห็นศักยภาพของการร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อทำงานนวัตกรรม เพื่อตอบสนองนโยบายที่ท่านนายกได้ให้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับความปลอดภัยด้านคมนาคม, การท่องเที่ยงเชิงคุณภาพ รวมถึงผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ทางเราพร้อมที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความสำเร็จ และเชื่อว่าทางรัฐบาลจะมีมาตรการช่วยส่งเสริมผู้ผลิตไทย 100% โดยสนับสนุนให้หน่วยงานไทยได้ซื้อของไทย และมีมาตรการส่งเสริมกระตุ้นเชิงนโยบายแหล่งเงินต่าง ๆ อาทิเช่น เงินกู้สนับสนุนนโยบายรัฐ, ดอกเบี้ยพิเศษ หรือการลดหย่อนภาษีสำหรับเอกชนที่ต้องการนำงานนวัตกรรมไทยไปใช้ในภาคธุรกิจอีกด้วย