ก.พลังงาน เร่งขับเคลื่อนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เตรียมเสนอร่างหลักเกณฑ์การสนับสนุน
ก.พลังงาน เร่งขับเคลื่อนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า
เตรียมเสนอร่างหลักเกณฑ์การสนับสนุน
—————————————————————————-
กระทรวงพลังงาน เร่งจัดทำแผนขับเคลื่อนส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย โดยร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้ได้ตามเป้าหมาย 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 ตามแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ EEP 2015
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานได้วางกรอบแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ ที่ให้ความสำคัญใน 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความมั่นคงทางพลังงาน ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 (Energy Efficiency Plan : EEP 2015) เป็น 1 ใน 5 แผนหลักด้านพลังงานที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายที่จะลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ลง 30% ในปี 2579 เมื่อเทียบกับปี 2553 ซึ่งหนึ่งในมาตรการหลักของแผน คือ การใช้ลดใช้พลังงานในภาคขนส่ง เนื่องจากเป็นภาคที่ใช้พลังงานมากที่สุด และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้จัดทำข้อเสนอโครงการปฏิรูปเรื่องการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) แห่งประเทศไทย เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 เพื่อรับทราบ จากนั้นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) จึงได้จัดทำแผนที่นำทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย พ.ศ. 2558-2562 และเริ่มเสนอให้มีการส่งเสริมการใช้และผลิตรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะภายในประเทศไทยขึ้น
สำหรับ กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เริ่มจัดทำมาตรการการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2558 ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริดปลั๊กอิน (Plug-in hybrid electric vehicle : PHEV) และ ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ (Battery electric vehicle : BEV) รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานและจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยมีหน่วยงานภาครัฐและตัวแทนภาคเอกชนเป็นคณะทำงาน โดยได้กำหนดแนวทางการจดทะเบียนผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า และการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี โดยเน้นให้ราคาการอัดประจุไฟฟ้ากลางวันสูงกว่าการอัดประจุไฟฟ้าในช่วงเวลากลางคืน นอกจากนี้จะมีโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับภาครัฐและเอกชนซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์การสนับสนุนและจะประกาศให้ทราบประมาณภายในเดือนสิงหาคมต่อไป
และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนแผนงานให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ภาครัฐจึงได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะที่ผลิตในประเทศ, กระทรวงคมนาคม ได้เห็นชอบให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีการนำร่องเช่ารถโดยสารไฟฟ้าแบบนำเข้ามาประกอบในประเทศจำนวน 20 คัน โดยดำเนินการควบคู่กับการจัดหารถโดยสารไฟฟ้า 200 คัน, กรมการขนส่งทางบก กำลังเร่งดำเนินการเสนอร่างประกาศ เรื่อง กำหนดกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และแนวทางการใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กอย่างปลอดภัย, กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดการประชุมและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นต้น
“แผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ในประเทศไทย เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ระยะ โดยช่วงนี้อยู่ในการทำงานระยะที่ 1 ระหว่างปี 2559 – 2560 เป็นขั้นของการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายการขออนุญาตและการสนับสนุนการวิจัยเรื่องแบตเตอรี่ โดยเน้นนำร่องกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ (ขสมก.) 200 คัน และรถเฉพาะจุด เช่น รถรับ-ส่ง พนักงานของ ปตท., รถรับ-ส่ง สุวรรณภูมิ-พัทยา รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านสถานี Charging Station และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง, ระยะที่ 2 ปี 2561 – 2563 ดำเนินการเชิงวิจัยอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ทั้งเรื่องสมรรถนะแบตเตอรี่ มอเตอร์ รวมทั้งเพิ่มจำนวนรถและจุด Charging Station ให้เพียงพอ, ระยะที่ 3 ปี 2564 – 2578 เป็นช่วงขยายผลการศึกษาให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ และระยะสุดท้ายระยะที่ 4 ปี 2579 เป็นต้นไป คาดหวังว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาแทนที่รถน้ำมันได้อย่างเต็มที่” พล.อ.อนันตพร กล่าวเพิ่มเติม