ก.พลังงาน เดินหน้าโครงการลดปัญหาหมอกควันภาคเหนือด้วยเทคโนโลยีพลังงาน นำซังข้าวโพดผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งแทนการเผาทิ้ง

0
299
image_pdfimage_printPrint

jpg18

ก.พลังงาน เดินหน้าโครงการลดปัญหาหมอกควันภาคเหนือด้วยเทคโนโลยีพลังงาน
นำซังข้าวโพดผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งแทนการเผาทิ้ง
ก.พลังงาน เดินหน้าโครงการลดปัญหาหมอกควันภาคเหนือด้วยเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม หมอกควัน ลดผลกระทบปัญหาสุขภาพประชาชนและกู้วิกฤตการท่องเที่ยว สนับสนุนการวิจัยนำเปลือก-ซังข้าวโพดมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งทดแทนการใช้ก๊าซ LPG และน้ำมันเตาในภาคอุตสาหกรรม เตรียมพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ หวังส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในประเทศให้เพิ่มขึ้น และเพิ่มรายได้เกษตรกรในพื้นที่
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานได้ลงพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการ “ลดปัญหาหมอกควันภาคเหนือด้วยเทคโนโลยีพลังงาน” ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือที่เกิดจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนของทุกปี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน และที่สำคัญส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของพื้นที่ภาคเหนือ
กระทรวงพลังงาน จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ทำการศึกษาวิจัยและนำร่องก่อสร้างโรงงานต้นแบบผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งขึ้น โดยนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่ ได้แก่ เปลือก ลำต้น ใบ และซังข้าวโพด มาทดลองผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซ LPG และน้ำมันเตาในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่าเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งจากของเหลือใช้จากข้าวโพด หรือ Corn Pellet ที่ผลิตได้ มีคุณภาพดี ให้ความร้อนสูงขี้เถ้าน้อย และต้นทุนไม่สูงมากเกินไป ที่สำคัญ สามารถลดการเผาเปลือกและซังข้าวโพดในพื้นที่โล่งของอ.แม่แจ่ม ได้ถึง 2,000 ตัน/ปี ช่วยลดฝุ่น และทำให้คุณภาพอากาศโดยรอบดีขึ้น
“จากผลสำเร็จในโครงการฯ กระทรวงพลังงาน จะมีการขยายผลพัฒนาการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งเพิ่มขึ้น ให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซ LPG และน้ำมันเตา เพื่อลดต้นทุนพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนตามเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และในอนาคต หากสามารถขยายผลใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนได้ ก็จะสามารถลดการเผาเปลือกและซังข้าวโพดได้มากถึง 585,000 ตันต่อปี ลดฝุ่นและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สำคัญ ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคเหนือ สร้างรายได้เข้าประเทศอีกทาง” นายอารีพงศ์กล่าว
ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ ก๊าซ LPG และ น้ำมันเตา เป็นเชื้อเพลิงในปัจจุบัน หันมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดแทน กระทรวงพลังงานจึงได้เตรียมมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการใน 2 มาตรการ ได้แก่ 1. สนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ด้วยการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการลงทุน และ 2. สนับสนุนเงินลงทุนบางส่วนให้ผู้ประกอบการ ที่ต้องการเปลี่ยนเฉพาะหัวเผาหม้อไอน้ำ เพื่อให้สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดได้ โดยสนับสนุนในอัตราร้อยละ 30 แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อแห่ง (นำร่อง 100 แห่งทั่วประเทศ) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์ผู้ที่จะยื่นข้อเสนอขอรับการสนับสนุน
…………………………………………………………………