ก้าวไปด้วยหัวใจเดียวกัน…12 องค์กรเอกชนชั้นนำ ยืนยันเจตนารมณ์ “สานพลังประชารัฐ คอนเน็กซ์-อีดี” ยกระดับการศึกษาไทย
ก้าวไปด้วยหัวใจเดียวกัน…12 องค์กรเอกชนชั้นนำ ยืนยันเจตนารมณ์ “สานพลังประชารัฐ คอนเน็กซ์-อีดี” ยกระดับการศึกษาไทย
โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน – คอนเน็กซ์-อีดี (CONNEXT ED) ภายใต้ “นโยบายสานพลังประชารัฐ” ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ เป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ที่ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาของประเทศไทย ด้วยความเชื่อมั่นว่าการศึกษา เป็นกลไกสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ
มาถึงวันนี้ครบ 1 ปีที่โครงการ CONNEXT ED ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย 12 องค์กรเอกชนใหญ่ระดับประเทศ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กลุ่มเซ็นทรัล บมจ. ซีพี ออลล์ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร กลุ่มมิตรผล บมจ. ปตท. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป และ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้พัฒนาและสร้างเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ (School Partners) ถึง 711 คน จากทั้ง 12 องค์กร เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมโครงการในปีแรก จนสามารถจุดประกายสร้างการเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษาไทยสู่ยุคดิจิทัล ในโรงเรียนประชารัฐทั้ง 3,351 แห่งสำหรับเฟสแรกในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยสามารถดำเนินการสอดคล้อง 10 ยุทธศาสตร์หลักของโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ และที่สำคัญตอบโจทย์ยุทธศาสตร์หลักโครงสร้างการขับเคลื่อนประเทศ ตามแนวทางสานพลังประชารัฐ ทั้งการลดความเหลื่อมล้ำ ให้นักเรียนได้เข้าถึงไอซีทีและสื่อมัลติมีเดียใน 39,829 ห้องเรียนอัจฉริยะ การพัฒนาคุณภาพคน สร้างเด็กดีและเด็กเก่ง 749,349 คน ปั้นคุณครูมืออาชีพ 36,397 คน เสริมแกร่งผู้อำนวยการ 3,351 โรงเรียนประชารัฐ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่านกลไกการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เหล่าผู้นำรุ่นใหม่ ซึ่งได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงร่วมกับสถานศึกษาและชุมชนในแต่ละโรงเรียน ผ่านการสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชน รวม 312,621,993 บาท
“การเดินทางด้วยจังหวะหัวใจเดียวกัน” แนวคิดที่สะท้อนถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนในโครงการ CONNEXT ED ในการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 4 โดยได้รับเกียรติจาก นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ เป็นประธาน พร้อมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สานพลังประชารัฐเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืน” ว่า “วันนี้ ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โครงการสานพลังประชารัฐ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่เข้ามาช่วยปฏิรูปการศึกษา ซึ่งโครงการ CONNEXT ED ได้ดำเนินการมาครบ 1 ปีแล้ว และผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงการศึกษาครั้งใหญ่ในการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษา เห็นได้ชัดว่า CONNEXT ED เป็นโครงการที่ลงไปถึงตัวเด็ก ลงไปถึงครูอย่างแท้จริง ถือเป็นจุดแข็งที่สุดของ CONNEXT ED”
“ครบรอบ 1 ปีของการดำเนินโครงการ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความร่วมมือในการสานพลังประชารัฐ มีทิศทางการดำเนินชัดเจน ทั้งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการจัดการศึกษาด้านทักษะวิชาการและทักษะวิชาชีพ ซึ่งภาคเอกชนมีความตั้งใจและทุ่มเทที่จะมาช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง เพราะเรื่องการปฏิรูปการศึกษา คนทั่วไปไม่ได้มองว่าเราจะปรับโครงสร้างอย่างไร แต่สนใจว่าลูกหลานได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ มีสื่อการสอนที่ทันสมัย และได้มีโอกาสเรียนกับครูที่ดีหรือไม่”
“อย่างไรก็ตาม ปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ช้า กลาง เร็ว หากปฏิรูปการศึกษาช้าจะอยู่ที่ระยะเวลา 30 ปี กลาง 20 ปี และเร็ว 10 ปี ซึ่งหากเดินถูกทาง จะก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในระยะยาวถึง 35 ปี อีกทั้ง ปฏิรูปการศึกษาที่สำเร็จของหลายประเทศเกิดจากการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก ดังนั้น โครงการสานพลังประชารัฐ จึงมีทิศทางอย่างชัดเจนที่เข้ามาช่วยกระตุ้นการจัดการศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย อีกทั้ง โครงการ CONNEXT ED ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนยกระดับโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ พิซ่า ในปี 2018 ด้วย”
นอกจากนั้น รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะตัวแทนภาครัฐ ได้กล่าวขอบคุณเหล่าผู้นำรุ่นใหม่ ตอกย้ำความสำคัญของทุกคนที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และส่งต่อพลังใจและความภาคภูมิใจในการเป็น School Partners อีกด้วย
ด้าน นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ขึ้นกล่าว หัวข้อ “มุ่งมั่น ศรัทธา…รวมพลังสู่ความสำเร็จ” ว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวในปีแรกนี้ ถือเป็นมิติใหม่ของการร่วมมือเพื่อการศึกษาไทยอย่างแท้จริง ความทุ่มเท เสียสละ และพลังศรัทธาของเหล่าผู้นำรุ่นใหม่ จาก 12 องค์กรภาคเอกชน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ CONNEXT ED ตามยุทธศาสตร์ 10 ข้อของโครงการสานพลังประชารัฐด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ได้แก่ 1.ความโปร่งใสของข้อมูลสถานศึกษา ตัวชี้วัดและเป้าหมายต่างๆ 2.กลไกการตลาดและการมีส่วนร่วมของชุมชน 3.การพัฒนาและส่งเสริมผู้นำรุ่นใหม่ รวมถึงการเสริมศักยภาพผู้นำโรงเรียนเพื่อเติบโตไปด้วยกัน 4.การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคต่อไปที่ใช้ข้อมูลเป็นตัวนำ (บิ๊กดาต้า) ซึ่งเด็กนักเรียนจะได้เข้าถึงคอนเทนต์และองค์ความรู้ที่หลากหลายมากที่สุด 5.หลักสูตรการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง 6.พัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนโรงเรียน 7.การยกระดับทักษะภาษาอังกฤษ 8.การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม 9.สร้างมาตรการจูงใจด้านสิทธิประโยชน์และการมีส่วนร่วมจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 10. ศูนย์กลางทางด้านการวิจัยและศูนย์กลางเทคโนโลยีแห่งอนาคตในระดับภูมิภาค
ทั้งนี้ ก้าวต่อไปของการดำเนินการโครงการ CONNEXT ED ในปี 2561 ยังคงมุ่งเน้นเรื่องของข้อมูลสถานศึกษาและความโปร่งใส รวมถึงการวัดผล ซึ่งจะมีการจัดทำ School Grading โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ Poor-Fair-Good-Great-Excellent พร้อมจัดทำตัวชี้วัดมาตรฐานโรงเรียนเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และยกระดับมาตรฐานโรงเรียนนั้นๆ ได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับข้อเท็จจริง นอกจากนี้ ยังคงให้ความสำคัญต่อเนื่องด้านการเชื่อมโยงกับกลไกการตลาดและการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมถึงการพัฒนาและส่งเสริมผู้นำรุ่นใหม่ เติมเต็มศักยภาพและสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง อีกทั้ง ส่งเสริมการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ให้เยาวชนได้เรียนรู้จากการทำงาน มีมิติทางสังคมรอบด้าน พร้อมให้การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา เพื่อให้นักเรียนได้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ไอซีทีและสื่อการเรียนการสอน รวมถึงเพิ่มการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารและครู สำหรับการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ให้ทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนและครู สามารถออกแบบการสอน หรือการส่งเสริมและพัฒนาเด็กได้สอดคล้องกับการสร้างเด็กไทยในอนาคตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และที่สำคัญโครงการ CONNEXT ED ยังจะเดินหน้าขยายบทบาทความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพิ่มเติม ทั้งองค์กรเอกชนอื่นๆ และเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ในการขับเคลื่อนโครงการต่อเนื่องต่อไป
ในช่วงท้าย นายศุภชัย ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน ได้กล่าวขอบคุณเหล่าผู้นำรุ่นใหม่ พร้อมให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่าหากทุกคน ตั้งใจทำหน้าที่จนเกิดผลสำเร็จและเป็นตัวอย่างที่ดี ก็จะเป็นลักษณะเดียวกับโดมิโน่ที่สามารถขยายผลต่อไปได้เรื่อยๆ ขอให้ School Partners ทุกท่าน จงอย่าได้ละความตั้งใจ เพราะในที่สุด ถ้าเราไม่ละความตั้งใจ การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
น.ส.มัณฑนา จันทรวงศา ผู้นำรุ่นใหม่ จากบมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าวว่า “ตนเป็นลูกครูซึ่งเข้าใจระบบการศึกษาไทย และได้ติดตามการปฏิรูปการศึกษาไทยมาโดยตลอด ซึ่ง 1ปีที่ได้เข้าร่วมโครงการ CONNEXT ED รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาการศึกษาของไทย โดยได้รับผิดชอบโรงเรียน 3 แห่งในจ.ประจวบคีรีขันธ์ และได้เรียนรู้ว่าแต่ละโรงเรียนมีความต้องการต่างกัน บางแห่งต้องการเสริมหลักสูตรการเรียนการสอนให้เข้มข้นยิ่งขึ้น บางแห่งต้องการเสริมทักษะอาชีพ เพราะอยากให้เด็กจบออกไปมีอาชีพ มีรายได้ ทำงานเป็น พึ่งพาตนเองได้ ขณะที่บางแห่งอยากให้เสริมทักษะด้านดนตรี กีฬา เพื่อที่จะได้ใช้ทักษะเหล่านี้ เป็นส่วนเพิ่มเติมศักยภาพ”
“การพัฒนาคน” เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ น.ส.มัณฑนา กล่าวต่อว่า “การเป็น SP ไม่ใช่เพียงทำหน้าที่ประสาน ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และคนในชุมชนเท่านั้น แต่เป็นการลงพื้นที่เข้าไปช่วยยกระดับพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอน ทักษะต่างๆ ของเด็กให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี ดังนั้น คนที่มาเป็น School Partner ต้องรู้จักเสียสละเวลา และมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนที่รับผิดชอบอย่างแท้จริง”
นายภาณุวัฒน์ อรรถโชติศักดา ผู้นำรุ่นใหม่ จากบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ผมรับผิดชอบโรงเรียนขยายโอกาสขนาดกลางใน จ.น่าน ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงม.3 ที่ 3 มีนักเรียนแต่ละแห่งประมาณ 100-200 คน โดยโรงเรียนมีปัญหาคล้ายกัน คือ นักเรียนมาจากครอบครัวยากจน ทำให้เมื่อจบม.3 ส่วนใหญ่จะออกสู่ตลาดแรงงาน ไปประกอบอาชีพมากกว่าเรียนหนังสือต่อ ดังนั้น โครงการที่ทาง School Partner เข้าไปช่วย จะเป็นการเพิ่มเติมทักษะอาชีพ สร้างรายได้ รวมถึงความต้องการด้านอื่นๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาครู เด็ก และโรงเรียน ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง”
นายภาณุวัฒน์ กล่าวต่อว่า “ตลอดระยะเวลา 1 ปี ไม่ใช่เพียงโรงเรียนที่ได้รับประโยชน์แต่ School Partner ก็ได้รับเช่นเดียวกัน” นายภาณุวัฒน์ เชื่อมั่นว่า SP ทุกคนต่างได้เรียนรู้พัฒนาศักยภาพของตนเอง และทำให้เข้าใจระบบการศึกษาไทยมากยิ่งขึ้น ตระหนักได้ว่า การจะช่วยแก้ปัญหาการศึกษาไทยได้นั้น ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของครู โรงเรียน หรือกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ชุมชน ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ โดยทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน เชื่อใจและพร้อมรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
1 ปีของการดำเนินโครงการ CONNEXT ED ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและพัฒนาผู้นำ นับจุดเริ่มต้นของการสร้างความเปลี่ยนแปลง ที่จะยังคงเดินหน้าต่อเนื่องต่อไป ภายใต้การผนึกกำลังอันเข้มแข็งของทุกภาคส่วน ที่จะ “ก้าวไปเพื่อหัวใจเดียวกัน” สู่เป้าหมายแห่งการพัฒนาและยกระดับการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน ผู้สนใจข้อมูลโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pracharathschool.go.th