ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ “11 ปี อุทยานการเรียนรู้TK park”

0
303
image_pdfimage_printPrint

FAILED%20(Temporary%20file%20could%20not%20be%20copied.)

เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559 เวลา 13.00 น. ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 ได้จัดกิจกรรมแถลงข่าวเนื่องในโอกาสครบรอบ 11 ปี อุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park ภายใต้แนวคิด “11th Year TK park : Dream Maker” ขึ้น พร้อมเสวนาในหัวข้อ “We are Dream Maker” กระบวนการสร้างฝัน สู่ห้องสมุดมีชีวิต และแผนการขยายผลเครือข่ายสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยได้รับเกียรติจากตัวแทนเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ ในทุกภูมิภาคเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมเปิดตัวรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้คนใหม่ “ราเมศ พรหมเย็น” ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา
นายราเมศ พรหมเย็น รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับองค์กรที่มีส่วนสร้างความรู้ให้สังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ในทุกเพศทุกวัย และเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยนับแต่จุดเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2548 อุทยานการเรียนรู้ได้ดำเนินงานตามภารกิจหลัก 3 ประการคือ สร้างและพัฒนาต้นแบบสิ่งเรียนรู้ ส่งเสริมนิสัยรักการอ่านการเรียนรู้ และเป็นเวทีเปิดให้เด็กและเยาวชนทั่วไปได้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ และสร้างสรรค์ อีกทั้งยังต่อยอดไปตามวิถีของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันนี้อุทยานการเรียนรู้ได้กลายเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนับตั้งแต่ปีนี้จะเป็นก้าวใหม่ในทศวรรษของการทำงาน โดยเป็นก้าวที่ต่อยอดและสืบสานจากพื้นฐานเดิมที่อุทยานการเรียนรู้ได้มุ่งมั่นสร้างและพัฒนาการเรียนรู้ในรูปแบบของ “ห้องสมุดมีชีวิต” ทั่วประเทศมากว่า 11 ปี
“ทศวรรษที่ผ่านมา เราสามารถขยายผลสู่อุทยานการเรียนรู้เครือข่าย 34 แห่ง ในพื้นที่ 25 จังหวัดทั่วประเทศแล้วเราสร้างความฝันให้เกิดขึ้นเป็นความจริงได้ด้วยการร่วมมือกับชุมชนในแต่ละท้องถิ่น และในปีที่ 11 นี้ อุทยานการเรียนรู้มุ่งมั่นผนึกกำลังกับหน่วยงานท้องถิ่นทุกภาคส่วนของประเทศไทยในลักษณะเชิงรุกเพิ่มขึ้นอีกโดยสร้างแผนพัฒนาแหล่งเรียนรู้สู่ภูมิภาคในรูปแบบ “ห้องสมุดมีชีวิต” เดินหน้าพัฒนาต้นแบบแหล่งเรียนรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิตให้แก่หน่วยงานในท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยให้แก่ชาวไทยมากในทุกภูมิภาค โดยเป็นความรู้ใหม่ๆของโลกซึ่งหมุนอย่างรวดเร็วที่ผสานเข้ากับบริบททางวัฒนธรรมในทุกท้องถิ่นอย่างไม่แปลกแยก
การทำงานของอุทยานการเรียนรู้จึงไม่ใช่การสร้างห้องสมุด แต่เป็นสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการกระจายความรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น และใน พ.ศ. 2559-2560 นี้ อุทยานการเรียนรู้ได้วางแผนขยายเครือข่ายไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เร็วๆนี้คือที่ จ.ร้อยเอ็ด โดยจะเปิดในเดือนกุมภาพันธ์ ต่อไปคือ จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ จ.ปัตตานี
เราไม่ได้ทุ่มเทเงินทองไปสร้างตึก หน้าที่ของเราคือการวางแผนทางกายภาพ และแนวทางการทำงาน แต่ที่สุดแล้วความเป็นห้องสมุดมีชีวิตจะเกิดขึ้นตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น เพราะทุกครั้งที่ขยายเครือข่ายจะมีการทำสำรวจความต้องการของท้องถิ่น ในหลายพื้นที่มีการทำถึงขั้นประชาพิจารณ์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้คนที่ใช้ชีวิตในชุมชนนั้นๆ ผมมองว่าจากหน่วยงานเล็กๆ สามารถขยายผลได้ขนาดนี้ระยะเวลาเพียง 11 ปี ถือเป็นความสำเร็จ”
นายราเมศยังกล่าวด้วยว่านอกจากการขยายเครือข่ายในเชิงกายภาพ อุทยานการเรียนรู้ยังปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ล่าสุดเพิ่งเปิดตัว TK Public Online Library โดยมีหนังสือให้เลือกอ่านผ่านแอปพลิเคชันมากกว่า 7,000 เล่ม นี่คือห้องสมุดสาธารณะออนไลน์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้