กิจกรรม A to a “Young Robot Maker โรบอท…อัจฉริยะสั่งได้ อาชีพยุคดิจิทัล”

0
579
image_pdfimage_printPrint

เมื่อพูดถึง “หุ่นยนต์” เรามักจะนึกถึงหนังการ์ตูนหรือเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่เป็นอันดับแรก เพราะในอดีตหุ่นยนต์ เกิดจากจินตนาการของมนุษย์ที่เหนือความจริง แต่เมื่อเวลาผ่านไปใครจะคาดคิดว่าหุ่นยนต์ได้กลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจริงและมีบทบาทสำคัญพลิกโฉมโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัลในปัจจุบันนี้

ดั๊บเบิ้ล เอ จึงได้จัดกิจกรรม A to a “Young Robot Maker โรบอท…อัจฉริยะสั่งได้ อาชีพยุคดิจิทัล” เพื่อให้น้องๆเยาวชน ได้รู้จักกับอาชีพการสร้างหุ่นยนต์ จุดประกายแรงบันดาลใจสู่อาชีพในอนาคต โดยพาพี่ๆ “A” จิตอาสาในอาชีพวิศวกรหุ่นยนต์และชมรมครูหุ่นยนต์ไทย มาแนะนำอาชีพการสร้างหุ่นยนต์ พร้อมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์และเวิร์กชอปประดิษฐ์หุ่นยนต์ขับเคลื่อนได้จริงให้กับน้อง “a” ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านท่าตูม จ.ปราจีนบุรี
นายชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดั๊บเบิ้ล เอ กล่าวถึงที่มาโครงการว่า “กิจกรรม A to a ถือเป็นหนึ่งในโครงการ Double A Better Tomorrow ปลูกฝัน ปลูกปัญญา ที่ได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2557 ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะเติมเต็มฝันให้กับลูกหลานชาวนาและเยาวชนโดยเฉพาะเยาวชนในชนบทที่ขาดแรงบันดาลใจ ขาดผู้ให้คำแนะนำ หรือโอกาสที่จะได้พบเห็นและเรียนรู้จากตัวอย่างดีๆ ดั๊บเบิ้ล เอ จึงได้ชวนพี่ๆ ในแต่ละอาชีพ ให้มาเป็นพี่ “A” (ใหญ่) เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจและถ่ายทอดประสบการณ์ให้น้อง “a” (เล็ก) ซึ่งหมายถึงน้องๆ ลูกหลานชาวนา และเยาวชนได้กล้าคิดกล้าฝัน ก้าวสู่อาชีพที่ดีในอนาคต โดยที่ผ่านมาดั๊บเบิ้ล เอ จัดกิจกรรม A to a แนะนำอาชีพให้น้องๆ “a” ไม่ว่าจะเป็น สัตวแพทย์ นักพากย์เกม ช่างภาพออนไลน์ นักกีฬาวอลเล่ย์บอลทีมชาติไทย นักเขียนซีไรต์ เป็นต้น”

กิจกรรม Young Robot Maker ได้เริ่มต้นในภาคเช้าด้วยการแนะนำอาชีพจาก คุณกัมปนาท ตันพิทักษ์สิทธิ์ หรือพี่เบิ้ม ผู้อำนวยการบริษัท โรบอท ซิสเต็ม จำกัด วิศวกรหุ่นยนต์ที่สามารถสร้างรายได้ 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งให้เกียรติมาเป็นพี่ “A” ผ่านคลิปวีดิโอสัมภาษณ์ โดยพี่เบิ้ม ทำธุรกิจสร้างหุ่นยนต์อุตสาหกรรมให้กับโรงงานต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร ฯลฯ โดยพี่เบิ้มมีแรงบันดาลใจตั้งแต่เด็กๆ คือชอบเล่นหุ่นยนต์ และสมัยเรียนก็เข้าร่วมกิจกรรมแข่งขันหุ่นยนต์ต่างๆ ทำให้มุ่งหน้าเรียนต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบก็ศึกษาต่อปริญญาโท วิศวกรหุ่นยนต์ ในต่างประเทศและทำงานหาประสบการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่นก่อนกลับมาทำธุรกิจของตัวเองที่ไทย โดยพี่เบิ้มแนะนำว่า สำหรับอาชีพสร้างหุ่นยนต์ต้องมองว่า เราทำหุ่นยนต์เพื่อไปทำอะไร แก้ปัญหาให้ลูกค้าอย่างไร ที่สำคัญต้องมีใจรัก ชอบสิ่งที่ทำด้วย น้องๆที่อยากเข้าสู่อาชีพนี้ ควรศึกษาสายวิศวกรรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรไฟฟ้า เครื่องกล คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะพวกโปรแกรมซอฟต์แวร์ต่างๆ ควรให้ความสำคัญ เพราะสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เช่น ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI

ต่อจากนั้นก็เข้าสู่ช่วงเวิร์กชอปให้น้องๆได้ลงมือปฏิบัติ “สร้างหุ่นยนต์แขนกล” โดยมีพี่ “A” จากชมรมครูหุ่นยนต์ไทย และคุณจิรพิพัฒน์ ธัญพงษ์ภัทร ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมหุ่นยนต์ โรบอทแอนด์ซายด์ เล่าถึงยุคที่หุ่นยนต์เข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันและการทำงานมากขึ้น พร้อมทั้งจัดเตรียมส่วนประกอบมาให้น้องๆได้ทดลองปฏิบัติสร้างหุ่นยนต์ให้ขับเคลื่อนได้จริง เริ่มจากการแนะนำส่วนประกอบต่างๆ หน้าที่การทำงานของแต่ละชิ้นส่วน ซึ่งการสร้างหุ่นยนต์แขนกลนี้ จะใช้การบังคับด้วยโทรศัพท์มือถือผ่านแอปพลิเคชั่น หลังจากน้องๆแบ่งกลุ่มเป็นทีม แจกจ่ายหน้าที่กันในทีมและเริ่มประกอบกันอย่างขะมักเขม้น โดยทีมพี่ “A” แนะนำและสอนน้องๆในเรื่องแผงวงจรที่ต้องใช้ การต่อวงจรไฟฟ้า รู้จักการใช้อุปกรณ์เครื่องมือ เพียงไม่นานน้องๆ “a” ก็สามารถสร้างหุ่นยนต์แขนกล จนสำเร็จ และถึงช่วงสำคัญคือ การนำหุ่นยนต์ลงสนามแข่งขัน เริ่มจากการบังคับให้หุ่นยนต์เดินซิกแซก ยกคีบกล่องนำไปวางในจุดที่กำหนด ด้วยบรรยากาศเสียงเชียร์หุ่นยนต์ของทีมตัวเองอย่างสนุกสนานและลุ้นไปพร้อมๆกัน โดยหุ่นยนต์ที่น้องๆประกอบขึ้นนี้ก็ได้มอบให้กับโรงเรียนบ้านท่าตูม เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนต่อไป

ด.ญ.ณัชชา เกษร หรือน้องปราย ชั้นม.2 กล่าวถึงกิจกรรมว่า “จากกิจกรรม A to a ในครั้งนี้ ทำให้รู้ว่า หุ่นยนต์มีบทบาทอย่างไรในปัจจุบันและอนาคตจะไปทิศทางไหน หลังจากอบรมก็จะนำไปสอนน้องๆ เพราะโรงเรียนเริ่มส่งเสริมให้นักเรียนได้คิดพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งก็มีการพัฒนาแอปฯดูแลแปลงผัก โดยสั่งงานระยะไกลค่ะ”

นายชานนท์ ป้องปาน หรือน้องเจ ชั้นม.3 ได้พูดถึงความรู้สึกในกิจกรรมว่า “ขอบคุณดั๊บเบิ้ล เอ ที่ให้โอกาสได้พบกับพี่ A ได้สร้างหุ่นยนต์และบังคับได้จริง กิจกรรมครั้งนี้ทำให้ผมรู้จักแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และคิดว่าหุ่นยนต์มีประโยชน์ในอุตสาหกรรม สามารถนำไปใช้งานในส่วนที่เป็นอันตรายแทนมนุษย์ได้ เช่น การพ่นสีรถยนต์ การทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับสารเคมีหรือที่มีความเสี่ยง ในอนาคตผมอยากเรียนทางสายอาชีวะ ช่างกลอุตสาหกรรม เพราะชอบซ่อมแซมครับ”

ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีใจรักมีความสนใจในสิ่งที่ตัวเองชอบ จะช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจให้เราเพียรพยายามอย่างเต็มที่เพื่อก้าวไปสู่อาชีพที่ฝันไว้ หากใครยังคิดไม่ออกว่าอาชีพอะไรใช่สำหรับเราก็สามารถดูคลิปพี่ A อาชีพต่างๆได้ที่ Youtube Double A Thailand