กิจกรรมโครงการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการเคารพทรัพย์สินทางปัญญา

0
356
image_pdfimage_printPrint

AM91998

กรมทรัพย์สินทางปัญญา จัดกิจกรรมปลูกจิตสำนึกเยาวชนให้เคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาด้วยแคมเปญ STOP PIRACY BUY ORIGINAL NOW หยุดละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่ใช้ของปลอม
กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าปลูกจิตสำนึกเยาวชนให้เคารพในทรัพย์สินทางปัญญา จัดแคมเปญ STOP PIRACY BUY ORIGINAL NOW หยุดละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่ใช้ของปลอม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หวังสร้างการตระหนักรู้ให้กับนิสิต นักศึกษาในภาคต่างๆ หลังจากประสบความสำเร็จครั้งแรกที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม

วันที่ 2 มีนาคม 2559 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี : กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดย นายทศพล ทังสุบุตร รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมโครงการ “รณรงค์สร้างจิตสำนึกในการเคารพทรัพย์สินทางปัญญา” ภายใต้แนวคิด “STOP PIRACY BUY ORIGINAL NOW หยุดละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่ใช้ของปลอม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชน นิสิต นักศึกษา ได้ทราบถึงผลเสียของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต่อเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงเพื่อให้นิสิต นักศึกษา เกิดความตระหนักและเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้น้อยลงได้ โดยมีกำหนดจัดกิจกรรมในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ทั้งหมด 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และครั้งนี้เป็นครั้งที่สองจัดที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

“กรมฯ ตั้งเป้าว่าการจัดกิจกรรมการรณรงค์ในโครงการเคารพทรัพย์สินทางปัญญาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ในครั้งนี้มีนักศึกษาจากคณะเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ และคณะอื่นๆ เข้าร่วม ประมาณ ๑๕๐ คน โดยมีการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น” และ “เทคนิค C&D สร้างสิ่งประดิษฐ์ในอนาคต” รวมถึงกิจกรรม Workshop เกี่ยวกับ “การเป็นเศรษฐีเงินล้านด้วยสิทธิบัตร” โดยเชื่อมั่นว่านักศึกษาของไทยเป็นคนเก่ง หากมีการชี้แนะให้รู้จักศึกษาค้นคว้าในช่องทางที่ถูกต้องก็จะสามารถพัฒนาต่อยอดสิทธิบัตร และสามารถผลิตสินค้าชนิดใหม่ๆ ออกสู่ท้องตลาด นอกจากนั้น การรณรงค์ดังกล่าวยังเป็นการสอนให้นิสิต นักศึกษาทราบถึงความยากลำบาก ในการประดิษฐ์คิดค้นผลงานทรัพย์สินทางปัญญาชนิดใหม่ๆ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้นิสิตนักศึกษามีจิตสำนึกไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่ใช้ของปลอม และหันมาใช้สินค้าที่ถูกกฎหมาย ซึ่งกรมฯ จะดำเนินการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการเคารพทรัพย์สินทางปัญญาในมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องต่อไป”