1

การลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการวิจัยพัฒนาคุณภาพของสื่อโทรทัศน์ที่นำเสนอต่อสังคม (Thailand Quality Rating)

กันยายน 2563 – นิเทศ นิด้า จับมือภาคีจากภาครัฐและเอกชน ร่วมกันพัฒนาระบบ Thailand Quality Rating และนำร่องการประเมินคุณภาพของรายการข่าวสาร และรายการเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัวทางโทรทัศน์

ศาสตราจารย์ ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดี คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด และ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จับมือสถานีโทรทัศน์และผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ 5 แห่ง ได้แก่ ช่องไทยพีบีเอส ช่องวัน 31 ช่องเวิร์คพอยท์ บริษัท บีอีซี-เทโรเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด และบริษัท ซูเปอร์จิ๋ว จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน “โครงการวิจัยการพัฒนาระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่นำเสนอต่อสังคม” เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่มีต่อสังคมไทย (Thailand Quality Rating) และร่วมนำร่องการประเมินคุณภาพของรายการข่าวสาร และรายการเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัวทางโทรทัศน์ รวมถึงจัดทำข้อเสนอแนะในการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์เชิงบวกสู่สังคม และนโยบายในการส่งเสริมคุณภาพเนื้อหาของรายการโทรทัศน์ไทย

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผู้สนับสนุนโครงการ กล่าวว่า การวิจัยนี้จะทำให้มีตัวชี้วัดและแนวทางในการวัดคุณภาพของสื่อในประเทศไทยที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากรายการประเภทข่าวสาร และรายการเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว และในอนาคตก็จะช่วยให้หน่วยงานรัฐมีข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพของสื่อที่จะนำไปสู่การส่งเสริมให้ผู้ผลิตสื่อมีแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพสื่อด้วยมาตรการเชิงบวกต่างๆ ได้ อันเป็นไปตามยุทธศาสตร์กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาสื่อและนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์

ผศ.ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ดร.ศศิธร ยุวโกศล และ ดร.วศินี หนุนภักดี นักวิจัย ระบุว่า การวิจัยนี้มุ่งพัฒนาระบบการวัดคุณภาพของสื่อที่สะท้อนถึงความต้องการหรือความคิดเห็นของผู้ชมต่อลักษณะของเนื้อหาที่มีคุณภาพของรายการโทรทัศน์ทัศน์ต่างๆ โดยผสานแนวคิดเรื่องการประเมินคุณภาพสื่อ เข้ากับหลักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data science) เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ชมรายการโทรทัศน์ปัจจุบันที่เปิดรับและมีส่วนร่วมผ่าน Multiplaform ทั้งนี้ ระบบ Quality rating จะเป็นประโยชน์ในการให้คําแนะนําแก่ประชาชนในการคัดกรองสื่อที่มีคุณภาพได้ด้วยตนเองและส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อ

ด้านนายกิตติพงศ์ กิตติถาวรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ร่วมออกแบบและพัฒนาระบบการวัดคุณภาพของสื่อโดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) เกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ของผู้ชมสื่อ บนเว็บไซต์ เว็บบอร์ด รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยใช้วิธีการ social analysis ร่วมกับ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) ในการวิเคราะห์และวัดผล

ระบบ Quality Rating นี้จะเริ่มถูกไปใช้นำร่องการวัดคุณภาพสื่อของรายการข่าวสาร และรายการเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยได้รับความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์และผู้ผลิตรายการ จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส บริษัท ไทย บรอดคาสสติ้ง จำกัด บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จํากัด บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด และ บริษัท ซูเปอร์จิ๋ว จำกัด โดยมีรายการที่ร่วมในการนำร่องการวัดคุณภาพสื่อ 6 รายการ ได้แก่ รายการข่าวค่ำมิติใหม่ทั่วไทย และรายการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส (Thai PBS) รายการข่าวเช้าเวิร์คพอยท์ และรายการซุปเปอร์เท็น ออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์ (Workpoint) รายการข่าวเย็นช่องวัน ออกอากาศทางช่องวัน 31 และรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ออกอากาศทางช่อง 3