การรักษาภาวะมีบุตรยาก ด้วยเทคโนโลยีบลาสโตซิสท์คัลเจอร์ (Blastocyst Culture)

0
780
image_pdfimage_printPrint

การรักษาภาวะมีบุตรยาก ด้วยเทคโนโลยีบลาสโตซิสท์คัลเจอร์ (Blastocyst Culture)
คือการทำการปฏิสนธิของไข่และอสุจิภายนอกร่างกายแล้วเลี้ยงตัวอ่อนต่อไปจนถึงระยะ Blastocyst แล้วจึงใส่กลับคืนสู่โพรงมดลูกเพื่อให้ไปฝังตัวและเกิดเป็นทารกต่อไป การเลี้ยงตัวอ่อนภายนอกร่างกายจนถึงระยะ Blastocyst นั้นต้องใช้ระยะเวลา 5 วัน และจะต้องใช้น้ำยาเลี้ยงตัวอ่อนตามความต้องการสารอาหารของตัวอ่อนแต่ละระยะ
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาสภาวะแวดล้อมในการเลี้ยงตัวอ่อนไว้ภายนอกร่างกายได้นานขึ้น (5-6วัน) จนกระทั่งตัวอ่อนเจริญเติบโตไปถึงระยะ Blastocyst ซึ่งเป็นตัวอ่อนที่มีการพัฒนาไปถึงขั้นสูงที่สุดก่อนที่จะฝังตัวเกิดเป็นเด็ก และเป็นระยะที่อยู่ในโพรงมดลูกตามธรรมชาติ เมื่อใส่ตัวอ่อนกลับคืนสู่โพรงมดลูก ตัวอ่อนจึงสามารถฝังตัวได้ทันที จึงทำให้อัตราการตั้งครรภ์ของวิธีการนี้สูงกว่าการใส่ตัวอ่อนในระยะอื่นๆทั้งหมด

การทำเทคโนโลยีบลาสโตซิสท์คัลเจอร์ เหมาะกับใครบ้าง
-คู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีปัญหาเรื่องท่อนำไข่ เช่น ท่อนำไข่ตีบ/ตัน ใช้การไม่ได้ หรือกรณีคนที่ทำหมันมาแล้วต้องการมีบุตร
-คู่สมรสที่ฝ่ายชายที่มีปัญหาเรื่องเชื้ออสุจิ
-คู่สมรสที่พยายามมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติเกิน 1 ปี แต่ยังคงไม่สามารถมีบุตรได้ โดยไม่ทราบสาเหตุ

ทั้งนี้คู่สมรสควรได้รับการปรึกษาจากแพทย์เบื้องต้น เพื่อรับทราบถึงข้อจำกัด รวมถึงการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ก่อนเริ่มกระบวนการรักษา โดยฝ่ายหญิงจะต้องมีการตรวจประเมินร่างกายเบื้องต้น เพื่อเช็คการทำงานของรังไข่ ท่อนำไข่ และตรวจเช็คสภาพของมดลูกและโพรงมดลูก ส่วนฝ่ายชายจะต้องมีการตรวจเช็คคุณภาพและการทำงานของอสุจิ ก่อนเริ่มกระบวนการการรักษาต่อไป

บทความโดย : นพ.มรว. ทองทิศ ทองใหญ่ แพทย์ผู้ชำนาญการสูตินรีแพทย์และรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : ศูนย์ผู้บุตรยาก World ART Center @ WMC Hospital ชั้น 4 โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล โทร. 02-836-9999 ต่อ 4706