การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์เผยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และปอดบวมช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์
ผลวิจัยใหม่ล่าสุดที่เผยแพร่ในการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ หรือ Alzheimer’s Association International Conference(R) (AAIC(R)) 2020 ระบุว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และปอดบวมช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์
ข้อมูลสำคัญจาก 3 การวิจัยที่เปิดเผยในการประชุม AAIC 2020 มีดังนี้
– การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่หนึ่งครั้งทำให้อุบัติการณ์ของโรคอัลไซเมอร์ลดลง 17% และการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่บ่อยกว่านั้นทำให้อุบัติการณ์ของโรคอัลไซเมอร์ลดลงอีก 13%
– การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมให้ผู้สูงวัยอายุ 65-75 ปี ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์สูงสุด 40% ขึ้นอยู่กับยีนของแต่ละคน
– ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหลังติดเชื้อสูงกว่า (6 เท่า) เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อม (3 เท่า)
“วัคซีนเป็นสิ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในวงการสาธารณสุขท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราจำเป็นต้องศึกษาประโยชน์ของวัคซีนทั้งในแง่ของการป้องกันการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย และการยกระดับการดูแลสุขภาพในระยะยาว” ดร.มาเรีย ซี คาร์ริลโล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ กล่าว
“การฉีดวัคซีนเป็นการดูแลสุขภาพง่าย ๆ แต่ได้ประโยชน์หลายทาง หนึ่งในนั้นคือช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อม” ดร.คาร์ริลโล กล่าว “การวิจัยนี้กระตุ้นให้เกิดการวิจัยทางคลินิกเพิ่มเติมที่มีขนาดใหญ่และหลากหลายมากขึ้น เพื่อยืนยันว่าการฉีดวัคซีนเป็นกลยุทธ์ด้านสาธารณสุขที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมเมื่อมีอายุมากขึ้น”
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลอาจลดการเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์
ผลวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนอาจมีคุณสมบัติในการป้องกันการเสื่อมถอยของสมอง แต่ยังไม่มีการศึกษาขนาดใหญ่และครอบคลุมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กับความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์โดยเฉพาะ เพื่ออุดช่องว่างดังกล่าว อัลเบิร์ต อัมราน นักศึกษาแพทย์จาก McGovern Medical School at The University of Texas Health Science Center at Houston และทีมงาน ได้ทำการศึกษาชุดข้อมูลบันทึกสุขภาพของชาวอเมริกันจำนวนมหาศาล (n=9,066)
อัมรานและทีมงานพบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่หนึ่งครั้งทำให้ความชุกของโรคอัลไซเมอร์ลดลง (odds ratio 0.83, p<0.0001) และในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่บ่อยกว่านั้นยิ่งมีความชุกของโรคอัลไซเมอร์ลดลงอีก (odds ratio 0.87, p=0.0342) ดังนั้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์น้อยกว่า โดยช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ลงได้เกือบ 6% ในผู้ป่วยอายุ 75-84 ปี เป็นเวลา 16 ปี
คณะนักวิจัยพบว่า ความสัมพันธ์เชิงป้องกันระหว่างวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กับความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์มีความชัดเจนที่สุดในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครั้งแรกเร็วกว่า ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ครั้งแรกเมื่ออายุ 60 ปี ได้รับประโยชน์มากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ครั้งแรกเมื่ออายุ 70 ปี
“การศึกษาของเราบ่งชี้ว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีราคาถูกและเข้าถึงง่ายมาก อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างมีนัยสำคัญ” อัมรานกล่าว “เราจำเป็นต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อศึกษาการทำงานของกลไกทางชีวภาพในร่างกาย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในขณะที่เรากำลังศึกษาหาวิธีการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ที่มีประสิทธิภาพ”
วัคซีนป้องกันโรคปอดบวมอาจลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในช่วงบั้นปลายชีวิต
การนำวัคซีนที่มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์อาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ดร.สเวตลานา ยูเครนเซวา รองศาสตราจารย์วิจัยประจำ Biodemography of Aging Research Unit (BARU) at Duke University Social Science Research Institute และทีมงาน ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซันป้องกันโรคปอดบวมอย่างเดียวหรือฉีดร่วมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ กับความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในผู้ป่วยอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 5,146 คน ในการศึกษา Cardiovascular Health Study นอกจากนั้นยังมีการพิจารณายีนเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ นั่นคือ TOMM40 rs2075650 G allele
คณะนักวิจัยพบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมระหว่างอายุ 65-75 ปี ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ 25-30% หลังปรับข้อมูลเพศ เชื้อชาติ การเกิด การศึกษา การสูบบุหรี่ และจำนวน G alleles โดยพบว่าความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ลดลงมากที่สุด (สูงสุด 40%) ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมและไม่มียีนเสี่ยง นอกจากนี้ จำนวนครั้งในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมและไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยอายุระหว่าง 65-75 ปี ยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ที่ลดลง อย่างไรก็ดี ไม่พบผลลัพธ์ดังกล่าวในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อย่างเดียว
“การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมก่อนอายุ 75 ปีอาจลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในช่วงบั้นปลายชีวิต ขึ้นอยู่กับยีนของแต่ละคน” ดร.ยูเครนเซวา กล่าว “ข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมอาจเป็นความหวังในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่มียีนเสี่ยง”
การติดเชื้อทำให้ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น
ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมมักมีอาการเจ็บป่วยอื่นร่วมด้วย เช่น การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการวิจัยเพิ่มมากขึ้นเพื่อศึกษาว่าการติดเชื้ออาจแย่ลง เป็นอันตรายต่อชีวิตมากขึ้น หรือก่อให้เกิดภาวะสมองเสื่อมหรือไม่
เจเน็ต แจนเบ็ค นักศึกษาปริญญาเอกจาก Danish Dementia Research Centre, Rigshospitalet and the University of Copenhagen ในเดนมาร์ก และทีมงาน ใช้ข้อมูลจากทะเบียนข้อมูลสุขภาพแห่งชาติเพื่อศึกษาการเสียชีวิตของประชากรชาวเดนมาร์กอายุ 65 ปีขึ้นไป (n=1,496,436) ซึ่งไปโรงพยาบาลด้วยอาการติดเชื้อ โดยพบว่าผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมและมีอาการติดเชื้อ มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อมและไม่มีอาการติดเชื้อถึง 6.5 เท่า ส่วนผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมอย่างเดียวหรือติดเชื้ออย่างเดียวมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า 3 เท่า โดยอัตราการเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วง 30 วันแรกหลังไปโรงพยาบาล
คณะนักวิจัยพบว่า ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมยังคงมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นตลอด 10 ปีหลังไปโรงพยาบาลด้วยอาการติดเชื้อ และอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อทั้งหมด (ตั้งแต่การติดเชื้อรุนแรงอย่างการติดเชื้อในกระแสเลือด ไปจนถึงการติดเชื้อเล็กน้อยอย่างการติดเชื้อในหู) สูงกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ได้ไปโรงพยาบาลด้วยอาการติดเชื้อ
“การศึกษาของเราตอกย้ำถึงความจำเป็นในการศึกษาความสัมพันธ์เหล่านี้ให้ลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อค้นหาว่าเพราะเหตุใดการติดเชื้อจึงมีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงและกลไกทางชีวภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของการติดเชื้อที่มีต่อภาวะสมองเสื่อม” คุณแจนเบ็คกล่าว
“การศึกษาของเราบ่งชี้ว่า ระบบดูแลสุขภาพ รวมถึงญาติของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ควรตระหนักมากขึ้นเกี่ยวกับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมที่มีการติดเชื้อ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่จำเป็น ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมต้องการการรักษาเป็นพิเศษ แม้ว่าจะไปโรงพยาบาลด้วยอาการที่ไม่เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม และดูเหมือนเป็นอาการติดเชื้อที่ไม่เกี่ยวข้องก็ตาม” คุณแจนเบ็คกล่าวเสริม
เกี่ยวกับการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์
การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (AAIC) เป็นการประชุมเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ โดยนักวิจัยจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม รวมถึงให้การสนับสนุนชุมชนนักวิจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
– โฮมเพจของ AAIC 2020: www.alz.org/aaic/
– ห้องข่าวของ AAIC 2020: www.alz.org/aaic/pressroom.asp
– แฮชแท็ก AAIC 2020: #AAIC20
เกี่ยวกับสมาคมโรคอัลไซเมอร์
สมาคมโรคอัลไซเมอร์เป็นองค์กรอาสาสมัครด้านสุขภาพชั้นนำของโลก ซึ่งอุทิศตนให้กับการดูแลรักษา การสนับสนุน และการวิจัยโรคอัลไซเมอร์ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการกำจัดโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมให้หมดไป ด้วยการสนับสนุนการวิจัยระดับโลก การลดความเสี่ยงของการเกิดโรค การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงการยกระดับคุณภาพการดูแลรักษา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ alz.org หรือโทร. 800.272.3900
อ้างอิง
– Albert Amran, et al. Influenza Vaccination is associated with a reduced incidence of Alzheimer’s Disease (Funder(s): U.S. National Institutes of Health, Christopher Sarofim Family Professorship, the CPRIT RR180012, UT Stars award)
– Svetlana Ukraintseva, PhD, et al. Repurposing of existing vaccines for personalized prevention of Alzheimer’s disease: Vaccination against pneumonia may reduce AD risk depending on genotype (Funded by U.S. National Institute on Aging)
– Janet Janbek, MSc, et al. Increased short- and long-term mortality following infections in dementia: A prospective nationwide and registry-based cohort study (Funder(s): )
โลโก้ – https://mma.prnewswire.com/media/1219566/AAIC_2020_Logo.jpg