1

การประชุมความร่วมมือ มหาวิทยาลัยไทย-อินโดนีเซีย CRISU-CUPT ครั้งที่ 10

CRISU-CUPT

อินโดนีเซียนับเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลกและมากที่สุดในประชาคมอาเซียน อีกทั้งมีความสัมพันธ์อันดีทางสังคมและเศรษฐกิจกับประเทศไทยตลอดมา รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้รับเลือกเป็นประธานใน การประชุมนานาชาติความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยประเทศไทย-อินโดนีเซีย ครั้งที่ 10 (10th International Meeting CRISU – CUPT) เมื่อเร็วๆนี้ เรื่อง “เสริมสร้างการบริหารและความเป็นผู้นำระหว่างมหาวิทยาลัยไทย-อินโดนีเซียและการขับเคลื่อนความร่วมมือ” ณ หอประชุม IICC เมืองโบกอร์ อินโดนีเซีย เป็นการประชุมของสภาอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งอินโดนีเซีย (Council of Rector of Indonesia State University) และสภาอธิการบดีแห่งประเทศไทย (Council of University Presidents of Thailand) โดยแบ่งการประชุมเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มอธิการบดี กลุ่มคณบดี และกลุ่มนักศึกษา โดยมีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมกว่า 50 แห่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศฝรั่งเศส ตลอดจนนำองค์ความรู้มาพัฒนาความก้าวหน้าทางการศึกษา สังคมและเศรษฐกิจ

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวถึงสาระการประชุมในวันแรกว่า “คณะอธิการบดี คณบดี และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆเข้าเยี่ยมชมเมืองจำลอง Taman Mini Indonesia Indah ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งและได้จำลองอาคารบ้านเรือนแต่ละเอกลักษณ์ จาก 27 จังหวัดของอินโดนีเชียไว้ด้วยกัน พิธีเปิดการประชุมในช่วงเช้า โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.เฮอร์รี่ ฮาร์ดิยันโต ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศอินโดนีเซีย นายภาสกร ศิริยะพันธ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำอินโดนีเซีย ฯพณฯ นายลุตฟี่ ราอุฟ เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย และ มิสซิส โครีนน์ โบรเซ่ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศอินโดนีเซีย ร่วมกล่าวในที่ประชุม พร้อมทั้งมีปาฐกถาพิเศษ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิจัยเทคโนโลยีและการศึกษาขั้นสูง อินโดนีเซีย เรื่อง “จิตวิญญาณของข้อตกลงบันดุง 2015 ในการเสริมสร้างการบริหารจัดการและความเป็นผู้นำของมหาวิทยาลัยในเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ”

การประชุมวิชาการ Session ที่ 2 ในหัวข้อ “ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง : การสังเกตการณ์และโมเดล 1 การศึกษาวิจัย โดย ดร.โทมัส จามาลุดดิน, ดร.มาทีเออ ไกรเลา, ศาสตราจารย์ ดร.ยุดี เสเทียวัน, ศาสตราจารย์ ดร.อรรถชัย จินตะเวช และ ศาสตราจารย์ไดอา เอ็มม่า รามาวาติ ต่อด้วยการประชุม Session ที่ 3 ในหัวข้อ “ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง : การสังเกตการณ์และโมเดล 2 ในการศึกษาวิจัย โดยมี ศาสตราจารย์ เอ็มไลลิค บูดี ปราเสตโย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทรงกต ดาสยนันท์, ดร.โดโด้ กุนาวัน, ดร.ริคาร์โด การ์เซีย และ ศาสตราจารย์ เฮอร์รี่ เพอร์โนโม

นอกจากนี้ในวันที่สามเป้น การประชุมคณะกรรมการ CUPT-CRISU ระหว่าง สภาอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กับ สภาอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งอินโดนีเซีย เรื่องโอกาสและความท้าทายของการศึกษาขั้นสูงระหว่างประเทศไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งประกอบไปด้วยหัวข้อ นักศึกษาที่มีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม, ความร่วมมือด้านงานวิจัยอย่างยั่งยืนและอัธยาศัยและการบริการที่ดีเลิศ ต่อด้วยการประชุม Session ที่ 4 ด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติระหว่าง 3 ประเทศ ประกอบด้วยเรื่องฐานข้อมูลและแบบวิเคราะห์เพื่อใช้ในการพัฒนาความร่วมมือทางการศึกษาและ วิชาการระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ

วันสุดท้ายเป็นการประชุมโต๊ะกลม : เรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนางานวิจัยไตรภาคี หลังจากนั้นได้ทัศนศึกษาดูงาน ณ สวนพฤกษศาสตร์โบกอร์ที่รวบรวมพันธุ์ไม้ต่างๆ ไว้มากกว่า 15,000 สายพันธุ์ แวะชมอนุสาวรีย์แห่งชาติโมนัสและชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติในกรุงจาการ์ต้า”

นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ผู้นำการศึกษารุ่นใหม่ของไทยได้มีบทบาทส่วนร่วมพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีศักยภาพและมิตรภาพอันดีต่อกันตลอดมา