1

การทำงานที่มุ่งมั่นของประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตน

ประกันสังคม แจงข้อเรียกร้องของ คปค. และกลุ่มภาคีเครือข่าย 18 องค์กร ส่วนใหญ่ดำเนินการแล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นเรื่องข้อกฎหมาย ด้านเลขาธิการ สปส. ย้ำต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ล่าสุดในวันที่ 17 ม.ค.61 นี้ จะได้ข้อสรุปเรื่องเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) และกลุ่มภาคีเครือข่าย 18 องค์กร ที่แถลงข้อเรียกร้องในหัวข้อ “2 ปี พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2558 กับข้อเรียกร้องที่ยังไม่ได้” ตามข้อเรียกร้องดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างการดำเนินการ ขณะที่บางส่วนใกล้ได้ข้อสรุป อาทิ

1. กรณีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำคัญ ประเด็นแนวทางการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ประกันตนได้รับความเสียหายจากการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการบรรเทาภาระทางการเงิน และด้านจิตใจให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ซึ่งจะได้ข้อสรุปในวันที่ 17 ม.ค.2561 นี้ และในส่วนของกรณีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำคัญสำนักงานประกันสังคมได้ร่างข้อเสนอการเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกันตน และปรับปรุงขยายเกณฑ์อายุของผู้ประกันตนให้สามารถได้รับการตรวจสุขภาพได้รวดเร็วขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับช่วงก่อนเกษียณอายุ ซึ่งจะต้องเป็นโรคที่มีความเสี่ยงในวัยทำงาน เช่น การซักประวัติ เพื่อค้นหาความผิดปรกติและปริมาณความเสี่ยงด้านสุขภาพ, ประเมินความเสี่ยงวัยทำงาน, กรณีที่ซักประวัติแล้วพบว่ามีความเสี่ยง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษา, การทำงานของไต Cr ตรวจค่า eGFR, การทำงานของตับ, ไขมันในเส้นเลือดชนิด LDL, Triglyceride ทั้งนี้ รายการและอัตราค่าตรวจสุขภาพข้างต้นอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดเพื่อเสนอคณะกรรมการการแพทย์ต่อไป ส่วนในการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากไม่ควรเพิ่มกรณีการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในชุดสิทธิประโยชน์ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน และผู้ประกันตนอาจได้รับความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการตรวจคัดกรองได้

2. กรณีปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ ซึ่งมีเสียงคัดค้านแนวคิดขยายบำนาญชราภาพผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี เนื่องจากเงินไม่ได้เพิ่มนั้น จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นการปฏิรูประบบบำนาญกองทุนประกันสังคมทั่วประเทศ แยกเป็นส่วนภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง ผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นการปฏิรูประบบบำนาญกองทุนประกันสังคม ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 5,926 คน มีผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 4,274 คน ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางที่ 1 คือการขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี โดยควรขยายอายุเนื่องจากผู้ประกันตนจะได้มีระยะเวลาในการออมเพิ่มขึ้น และเลือกแนวทางที่ 2 เห็นควรขยายอายุรับบำนาญชราภาพตามหลักสากล รับบำเหน็จชดเชย หากไม่สามารถทำงานจนถึงอายุรับบำนาญได้ รองลงมาเลือกแนวทางที่ 3 และเห็นว่าควรขยายอายุการเกิดสิทธิ รับบำนาญชราภาพตามหลักสากล และสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์บำเหน็จไปส่วนหนึ่งก่อนครบอายุรับบำนาญ เมื่อครบอายุ เกิดสิทธิรับบำนาญจะได้รับบำนาญในจำนวนที่ลดลง และสุดท้ายแนวทางที่ 4 เห็นว่าควรขยายอายุรับบำนาญ ขั้นต่ำเฉพาะผู้ประกันตนใหม่ สำหรับผู้ประกันตนเดิมสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์บำเหน็จไปส่วนหนึ่งก่อนครบอายุรับบำนาญ แต่เมื่อครบอายุเกิดสิทธิบำนาญจะได้รับบำนาญในจำนวนที่ลดลง สำหรับประเด็นประกันสุขภาพต่อเนื่องผู้เข้าร่วมประชุมก็เห็นด้วยยอมให้ประกันสังคมหักบำนาญส่วนหนึ่งเป็นเบี้ยประกันสุขภาพ และประเด็นการปรับสูตรการคำนวณบำนาญจากค่าเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย เป็นการคำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ยตลอดอายุการทำงานก็เห็นด้วย ส่วนประเด็นเรื่องการเพิ่มฐานเงินสมทบนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น และทำความเข้าใจต่อผู้ประกันตน ซึ่งก็เริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นแล้ว แต่ก็ต้องดูความพร้อมของผู้ประกันตนหากไม่พร้อมก็ต้องขยายเวลาออกไปก่อน อย่างไรก็ตามในระยะยาวเราต้องมาคิดสูตรในการปรับเพิ่มการจ่ายเงินสมทบ เช่นจะปรับทุกๆ ปี ปรับตามภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจ อายุคน เป็นต้น

3. กรณีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมมาตรา 8 ซึ่งสมควรจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ขณะนี้ขั้นตอนการดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณา ของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการเลือกตั้ง คาดว่าจะประกาศเป็นกฎหมายได้ในไม่ช้า

4. กรณีพัฒนาสิทธิประโยชน์ ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ สำนักงานประกันสังคมได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ 2 กรณี ดังนี้ 1.กรณีเพิ่มสิทธิแต่ไม่เพิ่มเงิน มีให้ 2 ทางเลือก โดยทางเลือกที่ 1 คือ เจ็บป่วยนอน รพ. เพิ่มค่าชดเชยการขาดรายได้จาก 200 บาท เป็น 300 บาท ทางเลือกที่ 2 ไม่นอนโรงพยาบาล แต่นอนรักษาตัวที่บ้าน ก็ต้องมีใบรับรองแพทย์ ถ้าต้องรักษาเกิน 3 วัน จะได้รับชดเชยให้วันละ 200 บาท แต่ถ้าไม่ถึง 3 วัน ได้วันละ 50 บาท ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง ส่วนกรณีเสียชีวิต หากส่งสมทบครบ 60 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์ 3,000 บาท 2.กรณีการเพิ่มเงินสมทบซึ่งเป็นทางเลือกใหม่แรงงานจ่ายสมทบเดือนละ 300 บาท จะได้เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วยวันละ 300 บาท, ทุพพลภาพจ่ายตลอดชีวิต เสียชีวิตจะได้ค่าทำศพ 40,000 บาท เพิ่มเงินบำเหน็จชราภาพเดือนละ 150 บาท ถ้าส่งสมทบครบ 180 เดือน จะให้เงินเพิ่มอีก 10,000 บาท และเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรคนละ 200 บาท ตั้งแต่แรกเกิดแต่ไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ คราวละไม่เกิน 2 การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้พิจารณาและยืนยันตามร่างดังกล่าวและส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เพื่อดำเนินการขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้ติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งว่ากรมการปกครองขอแก้ไขถ้อยคำเล็กน้อย คาดว่าแรงงานนอกระบบสามารถ รับสิทธิสวัสดิการตามมาตรา 40 ได้ในเร็ววันนี้ โดยครั้งนี้มีความพิเศษเพราะถือว่า จะเป็นครั้งแรกที่รัฐมีการจ่ายสมทบให้กับแรงงานนอกระบบอีกด้วย

5. กรณีการปฏิรูปทันตกรรม ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้ให้สิทธิผู้ประกันตนได้รับค่าบริการทางการแพทย์ กรณีทันตกรรม สำหรับรายการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 900 บาท ต่อรายต่อปีโดยไม่ต้องสำรองจ่าย ในเรื่องของการตรวจสุขภาพช่องปาก สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยรูปแบบแนวทางการจัดบริการทางการแพทย์กรณีทันตกรรมที่ทำให้สุขภาพช่องปากและฟันของผู้ประกันตนดีขึ้น โดยมีระยะเวลาการศึกษาวิจัย 1 ปี ซึ่งสำนักงานประกันสังคม จะนำมาพิจารณาในรายละเอียดและประเมินความคุ้มค่าก่อนนำไปปรับปรุงสิทธิประโยชน์อีกครั้ง

นายสุรเดชฯ กล่าว ในตอนท้ายว่า กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ขอขอบคุณกลุ่มเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) และกลุ่มภาคีเครือข่าย 18 องค์กรที่คอยตรวจสอบติดตามการทำงานของสำนักงานประกันสังคมมาโดยตลอด สำนักงานประกันสังคมยังคงยึดหลักการดำเนินงานภายใต้แนวทางของรัฐบาลปัจจุบันและกระทรวงแรงงานโดยพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ทั้งนี้เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและของผู้ประกันตนอย่างยั่งยืน