กสอ. เดินหน้า DIP SME Academy ปี 3 เร่งพัฒนาศักยภาพต่อยอดธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หวังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านบาท

0
507
image_pdfimage_printPrint

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้า พัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เน้นต่อยอดกิจกรรม DIP SME Academy และการเรียนรู้ผ่านอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง มีเนื้อหาครอบคลุมองค์ความรู้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจัดตั้งหรือขยายธุรกิจ โดยมุ่งส่งเสริมความรู้และทักษะให้ผู้ประกอบการในรูปแบบ “ออนไลน์” และ “ออฟไลน์” หลังประสบความสำเร็จจาก 2 หลักสูตรในปี พ.ศ. 2560 – 2561 ที่ผ่านมา พร้อมมั่นใจปีนี้สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้เล็งเห็นความสำคัญถึงวิธีการพัฒนาปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ จึงได้จัดกิจกรรม DIP SME Academy และการเรียนรู้ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น ภายใต้โครงการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อ ต่อการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้รองรับต่อการเปลี่ยนแปลง ของสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการด้วยกิจกรรมจับคู่ผลงานวิจัยและกิจกรรมการจัดทำแผนธุรกิจและนำเสนอแผนธุรกิจ ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียนมากขึ้น โดยจะดำเนินการควบคู่กับการให้คำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทั้งสองฝ่าย การวิเคราะห์ผลและปัญหาที่เกิดขึ้นจริงให้สามารถแก้ไขได้อย่างทันเหตุการณ์ การพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนในระบบ โดยคำนึงถึงประโยชน์ และความคุ้มค่าของผู้เรียนเป็นสำคัญ รวมถึงมีการสัมมนาเสริมจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการให้แนวคิด และแนวทางในการพัฒนาผู้เรียน ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ต้องการเสริมความรู้ด้านความเป็นผู้ประกอบการจากสื่อการเรียนรู้ ในรูปแบบที่ทันสมัยในลักษณะการเรียนรู้เชิงโต้ตอบ (Interactive) ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าถึงง่ายเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา
สำหรับหลักสูตรการเรียนรู้นั้นจะเน้นการเรียนที่ควบคู่กันไปทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยหลักสูตรออนไลน์นั้นจะมีเนื้อหาในเรื่องของ Digital Transformation ประกอบด้วย 1. การปรับตัวขององค์กรเข้าสู่ เศรษฐกิจดิจิทัล 2. Crowd Funding 3. Crowd Sourcing 4. ฟินเทค 5. เทคโนโลยี AI และ 6. การจัดการ Big Data โดยทั้ง 6 บทเรียนนั้น เกิดจากการสำรวจความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง ส่วนหลักสูตร Offlineเป็นการจัดสัมมนาจับคู่ผลงานวิจัย (Matching) และการสัมมนาจัดทำแผนธุรกิจและนำเสนอแผนธุรกิจ Pitching นอกจากนี้ ยังมีการคัดเลือกผู้เรียนที่มีแนวคิดทางธุรกิจโดดเด่นและผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ และ ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ มาเป็นตัวอย่าง Success Case ให้แก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไปให้รับรู้ ถึงวิธีการพัฒนาธุรกิจและปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ยังมีบทเรียนเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีบนอินเตอร์เน็ต ได้แก่ การปรับตัวขององค์กร สู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล การระดมความคิดเห็นเพื่อต่อยอดธุรกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านชุมชนออนไลน์ การตลาดออนไลน์ การจับคู่ทางธุรกิจ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ การระดมทุนสาธารณะ (Crowd Funding)และกิจกรรมที่สนับสนุนการนำงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการจัดตั้งธุรกิจใหม่ เกิดการผลิตภัณฑ์อย่างมีนวัตกรรม ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถจัดตั้งธุรกิจ ขยายธุรกิจ รวมถึงเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้ โดยคาดว่าจะสามารถสนับสนุนการจัดตั้งและขยายธุรกิจ จำนวนกว่า 200 ราย มีการต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยกิจกรรมจับคู่ผลงานวิจัย (Matching) จำนวน 20 ราย ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านบาท นายกอบชัย กล่าว
ทั้งนี้ กิจกรรม DIP SME Academy ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 และจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เป็นการสร้างระบบการเรียนรู้ให้กับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจ สามารถเรียนได้ตลอดเวลา และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพและเสริมสร้างความรู้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ และเกิดธุรกิจใหม่ได้จำนวนมาก โดย 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้าร่วมเรียนจำนวน 17,600 ราย และจบหลักสูตร จำนวนกว่า 1,500 ราย ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 600 ล้านบาท