กสอ. จับมือ จุฬา เผยยอดเรียนนักธุรกิจใหม่ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ กว่า 4,500 คน

0
715
image_pdfimage_printPrint

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดกิจกรรม SME Academy และระบบการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้โครงสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมและโครงการสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ (2) ณ โรงแรมเดอะ เซนต์ริจิส ราชดำริ

นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการ SME Academy เป็นกิจกรรมเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ระบบ E-learning ซึ่งสร้างระบบการเรียนรู้ ให้กับผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา เป็นการเพิ่มศักยภาพและสร้างเสริมความรู้ให้กับผู้ประกอบการและเกิดธุรกิจใหม่ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์ที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ที่เป็นแนวคิดใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยไปสู่ Industry 4.0 ให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ ๆ ของโลก

SME Academy เป็นสื่อการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า ระบบ E-learning ซึ่งสร้างสรรค์รูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจด้วยทีมวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญให้ความรู้ในรูปแบบ ที่หลากหลาย โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) และ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) สามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้ กระตุ้นการเรียนรู้แบบเจาะลึกแบบสร้างแนวคิดให้เกิดไอเดียใหม่ๆ และเนื้อหาความรู้ที่มาจากวิทยากรที่มีประสบการณ์ตรงระดับประเทศ โดยมีบทเรียนจำนวน ทั้งสิ้น 50 บทเรียน และคลังความรู้เสริม 60 เรื่อง นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างความสำเร็จหรือ Success Case อีก 17 ราย ที่ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ แง่มุมต่างๆในการดำเนินธุรกิจให้เติบโต

นอกจากการเรียนผ่านระบบออนไลน์แล้ว ทางโครงการยังมีการจัดกิจกรรมออฟไลน์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางธุรกิจซึ่งกันและกัน ในการสัมมนาและการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมโอกาสการเริ่มต้นธุรกิจ (Startup Day) ซึ่งได้จัดขึ้นถึง 2 ครั้ง ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับความรู้จากการฝึกอบรมด้านการจัดทำโมเดลธุรกิจ มีการเสวนาเพิ่มเติมความรู้ด้านบริหารจัดการที่สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจของตนได้จริง รวมถึงการจัดกิจกรรม Business Matching เพื่อการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัล อีกทั้งผู้ประกอบการ SMEs ที่ผ่านโครงการจะเป็นผู้นำที่มีพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและมีการเชื่อมโยงธุรกิจกันอย่างเข้มแข็งก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมรากฐานที่สมบูรณ์ของประเทศอย่างยั่งยืนตลอดไป

นายเดชา กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมามีผู้เข้ารับการเรียนรู้ทุกหลักสูตรจำนวนทั้งสิ้น 4,507 คน แบ่งเป็นหลักสูตรพัฒนาอุตสาหกรรม 1,853 คน หลักสูตรแฟชั่นดีไซน์พื้นฐาน 2,654 คน ในจำนวนผู้เข้าเรียนทั้งหมดมีผู้ที่เรียนจบทั้งหลักสูตร และทำแบบทดสอบผ่านตามเกณฑ์การประเมินของโครงการ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561)

ส่วนกิจกรรมการสัมมนา Startup Day (Pitching) ครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อ วันที่ 22-24 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมแคนทารี ฮิลล์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนทั้งสิ้น 108 คน และ ผู้เข้าร่วมเสนอแผนธุรกิจจำนวนทั้งสิ้น 16 คน (ทีม) ได้รับรางวัล 3 ทีม ซึ่งสามารถทำให้เกิดเป็นธุรกิจจริงจำนวน 12 ทีม มูลค่ารวมของธุรกิจกว่า 20 ล้านบาท และครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อ วันที่ 13 -15 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพมหานคร เพลินจิต-สุขุมวิท มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนทั้งสิ้น 155 คน และผู้เข้าร่วมนำเสนอแผนธุรกิจจำนวนทั้งสิ้น 16 คน ได้รับรางวัล 3 ทีม ซึ่งสามารถทำให้เกิดเป็นธุรกิจจริงจำนวน 11 ราย มูลค่ารวมของธุรกิจกว่า 32 ล้านบาท ณ เดือนกรกฎาคม 2561 นายเดชา กล่าวทิ้งท้าย