กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) พัฒนาศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาคีด้านการคุ้มครองแรงงานทางทะเล รวมถึงเจ้าของเรือ และคนประจำเรือ ให้มีองค์ความรู้ใหม่ ทันต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในกิจการเดินเรือทะเลระหว่างประเทศ
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. ๒๕๕๘ บัญญัติขึ้นโดยมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองคนประจำเรือ ให้มีสภาพการจ้าง สภาพการทำงานที่ดีสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เนื่องจากการทำงานบนเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ มีสภาพการจ้าง และการทำงานแตกต่างจากปกติ รวมทั้งมีความเสี่ยงภัยจากภัยธรรมชาติและโจรสลัด จึงต้องนำอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. ๒๕๔๙ และมาตรฐานอื่นๆ ในการเดินเรือในทะเลมาปฏิบัติ เพื่อเป็นการรับรองว่าแรงงานทางทะเลจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ดังนั้นเพื่อให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพ และส่งเสริม คุ้มครองให้เจ้าของเรือปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย คนประจำเรือได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการคุ้มครองแรงงาน มีความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ ป้องกันการค้ามนุษย์ในกิจการเดินเรือระหว่างประเทศ มีคุณภาพชีวิตที่ดีจึงจำเป็นต้องมีกลไกประชารัฐ คือ มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน
อธิบดี กสร. กล่าวต่อว่า การพัฒนาศักยภาพให้พนักงานเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานทางทะเล ให้มีองค์ความรู้ใหม่ที่ทันต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ถือเป็นช่องทางที่สำคัญในการส่งเสริมการคุ้มครอง สิทธิประโยชน์ของแรงงานทางทะเล ป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในกิจการเดินเรือทะเลระหว่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้านการให้คำปรึกษาและการรับคำร้อง กรมจึงได้เชิญพนักงานเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงเจ้าของเรือ และคนประจำเรือ รวมจำนวนทั้งสิ้น 40 คน มาสร้างความรู้ ความเข้าใจในรายละเอียดของพระราชบัญญัติฯ และหลักการตามมาตรฐานสากลของแรงงานทางทะเล เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการป้องกันการค้ามนุษย์ หรือแรงงานบังคับในกลุ่มของคนประจำเรือ และยังเป็นการสร้างเครือข่าย ทางสังคมแรงงานทางทะเลในกิจการเดินเรือได้อีกด้วย