1

กสร. เปิดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างจากสถานการณ์โควิด 19 เพื่อเป็นช่องทางให้คำปรึกษา และช่วยเหลือนายจ้าง-ลูกจ้าง

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิด“ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างจากสถานการณ์โรคโควิด 19” เพื่อเป็นกลไกในการทำงานเชิงรุก ซึ่งจะเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์การเลิกจ้าง พร้อมให้คำปรึกษา ช่วยเหลือนายจ้าง-ลูกจ้างได้เข้าถึงสิทธิตามกฎหมายมากยิ่งขึ้น
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั้งในด้านการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย แต่รายได้ลดลง ทำให้ผลประกอบการขาดความสมดุล หนทางในการแก้ปัญหาของ สถานประกอบกิจการ คือการเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของกรม พบว่าในช่วงเดือนตุลาคม 2562 – กันยายน 2563 มีลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและมายื่นคำร้องกับพนักงานตรวจแรงงานจากสถานประกอบกิจการ 1,425 แห่ง จำนวน 22,634 คน กรมฯ ได้ดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์แล้วรวมทั้งสิ้น จำนวน 376,997,561 บาท ดังนั้นเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศไทยโดยเฉพาะการเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โรคโควิด 19 ให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วกรมจึงจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างจากสถานการณ์โรคโควิด 19” ที่ถือเป็นกลไกหนึ่งในการทำงานเชิงรุก โดยการเฝ้าระวังและติดตามรายงานสถานการณ์การเลิกจ้าง การให้คำปรึกษา และช่วยเหลือ ตลอดจนการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายใน และหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐ และเอกชน อันจะส่งผลให้ลูกจ้างเข้าถึงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายมากยิ่งขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างจากสถานการณ์ โรคโควิด 19” (Prevention and Problem Solving on Termination of Employment Operation Center) หรือเรียกโดยย่อว่า ศปลค. (PSTC) มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ กองคุ้มครองแรงงาน ชั้น 10 กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน อาคารกระทรวงแรงงาน จะทำหน้าที่ในการติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้าง ตลอดจนประสานงานด้านการข่าว รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องมากำหนดเป็นแนวทางแก้ไขหากสถานการณ์ยังไม่ยุติ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือ เป็นที่ปรึกษา แนะนำในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเลิกจ้างแก่หน่วยปฏิบัติ หรือสถานประกอบกิจการ ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคมในการให้ความช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างต่อไป