1

กสร. ลงพื้นที่สอบเหตุเครนลุมพินี พระราม3 พร้อมแจ้งความเอาผิดนายจ้างตามกม.ความปลอดภัย

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุเครนอาคารลุมพินี พระราม 3 ถล่ม เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 5 ราย เตรียมแจ้งความเอาผิดนายจ้างตามกฎหมายความปลอดภัย ฐานไม่แจ้งการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงเป็นเหตุให้คนทำงานเสียชีวิตจากการทำงาน พร้อมสอบความผิดฐานอื่นเพิ่มเติม
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงกรณีเหตุเครนอาคารลุมพินีพาร์ค พระราม 3 ริเวอร์ไรน์ ถล่ม เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บอีก 5 ราย เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 ที่ผ่านมาว่า ทันทีที่ได้รับรายงานว่าเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวได้สั่งการให้พนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 11 ลงพื้นที่ตรวจสอบทันที ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าสถานที่ก่อสร้างดังกล่าวได้ก่อสร้างถึงชั้น 12 จึงทำการต่อเครนเพื่อก่อสร้างชั้น 13 โดยมีบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นเจ้าของโครงการ และมีบริษัทเป็นผู้รับเหมาช่วงก่อสร้าง โดยในเบื้องต้นได้รับรายงานว่า โครงการดังกล่าวมีการใช้ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่หรือ Tower Crane จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งสาเหตุน่าจะเกิดมาจากปั้นจั่นเครื่องที่หักโค่นลงมาอยู่ในระหว่างการเพิ่มความสูงของปั้นจั่น โดยใช้ปั้นจั่นอีกเครื่องทำหน้าที่ยกชุดคอสวิงที่ประกอบไปด้วย ห้องบังคับปั้นจั่น แขนปั้นจั่น มอเตอร์และน้ำหนักถ่วง ซึ่งในระหว่างที่กำลังเพิ่มความสูงโดยการติดตั้งชิ้นส่วนของหอปั้นจั่น โครงสร้างหอปั้นจั่นอาจแกว่งจนเสียสมดุลย์ จนทำให้ชุดน๊อตหรือสลักที่ใช้ยึดขาด จนทำให้โครงสร้าง หักโค่นลงมาพร้อมกับลูกจ้างที่กำลังทำหน้าที่ยึดชุดน๊อตพลัดตกลงมาด้วย อีกทั้งยังดึงเอาปั้นจั่นอีกเครื่องที่ทำหน้าที่ยกชุดคอสวิงของปั้นจั่นที่หักโค่นจนได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า นายจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 มาตรา 34 ในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิตจากการประสบอันตราย จากการทํางาน นายจ้างต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในทันทีโดยโทรศัพท์ โทรสาร และแจ้งรายละเอียด เป็นหนังสือภายใน 7 วัน โดยในวันนี้ (24 ม.ค.62) นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกสร. พร้อมด้วยพนักงานตรวจความปลอดภัยได้ลงพื้นที่เกิดเหตุและจะได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษนายจ้างตามฐานความผิดดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนสน.บางโพงพาง นอกจากนี้ พนักงานตรวจความปลอดภัยจะตรวจสอบเพิ่มเติมว่านายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 14 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในสภาพการทำงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงานและแจกคู่มือปฏิบัติงานให้ลูกจ้างทุกคนก่อนที่ลูกจ้างจะเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน, มาตรา 16 ให้นายจ้างจัดให้ผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างทุกคนได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงาน และมาตรา 17 นายจ้าง ต้องติดประกาศสัญลักษณ์เตือนอันตรายและเครื่องหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือไม่ หากพบว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามก็จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ทันที ทั้งนี้ ความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแล้วแต่ฐานความผิด