กสร. มุ่งขจัดปัญหาการค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพพนักงานตรวจแรงงาน

0
572
image_pdfimage_printPrint

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพิ่มศักยภาพพนักงานตรวจแรงงานในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน เพื่อยกระดับพนักงานตรวจแรงงานให้มีศักยภาพในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวในฐานะประธานเปิดโครงการเพิ่มศักยภาพพนักงานตรวจแรงงานในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2564 โดยจัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยมิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ เจ้าหน้าที่ขาดความเข้าใจในเรื่องการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และขาดขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานสำหรับพนักงานตรวจแรงงานในการส่งต่อกรณีการค้ามนุษย์ไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยตรง และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต่างมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาและมีความต้องการที่จะพัฒนากระบวนการทำงานเพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง จึงได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการคุ้มครองแรงงาน จัดโครงการเพิ่มศักยภาพพนักงานตรวจแรงงานในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการตรวจแรงงานให้พนักงานตรวจแรงงานมีความรู้ความเข้าใจในสาระสำคัญของกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน สามารถวิเคราะห์ลักษณะความผิดที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับความผิดฐานค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การใช้แรงงานเด็ก และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ จนนำไปสู่การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานสามารถประสานงานและส่งต่อกรณีที่อาจเป็นกรณีการค้ามนุษย์ด้านแรงงานไปยังทีมสหวิชาชีพและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมจึงได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์ผ่านวีดิทัศน์ทางไกล (Cat Conference) โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมประกอบด้วยพนักงานตรวจแรงงานจากหน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 100 คน โดยมุ่งหวังยกระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยให้ดีขึ้นได้ต่อไป