กสร. ตั้งเป้าขจัดค้ามนุษย์แรงงาน พบปี 60 ผิดกฎหมายเพียบ

0
466
image_pdfimage_printPrint

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลุยแก้ปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เน้นตรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เอาผิดนายจ้างหากฝ่าฝืน พร้อมเปิดช่องรับเรื่องร้องทุกข์เพิ่ม เผยปี 60 พบผิดกฎหมายแรงงานเพียบ

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมุ่งมั่นดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดไปจากประเทศไทย ซึ่งได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจนได้รับการปรับระดับจาก Tier3 มาเป็น Tier2 Watch List ในปีที่ผ่านมา และเพื่อเป้าหมายที่ดียิ่งขึ้น กสร. ได้เร่งรัดให้แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานโดยได้กำชับให้หน่วยปฏิบัติทำงานในเชิงรุก เน้นตรวจบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในกิจการกลุ่มเสี่ยง กุ้ง ปลา อ้อยน้ำตาล เครื่องนุ่งห่ม และการตรวจแรงงานเด็กในทุกกิจการ ซึ่งในปี 2560 ได้ตรวจแรงงานในระบบ 33,660 แห่ง ลูกจ้าง 1,086,540 พบการกระทำผิด 7,485 แห่ง ส่วนใหญ่กระทำผิดเกี่ยวกับการค้างจ่ายค่าจ้าง ไม่จัดวันหยุด เป็นต้น การตรวจแรงงานในกิจการกลุ่มเสี่ยง 1,404 แห่ง ลูกจ้าง 68,196 คน พบการกระทำผิด 136 แห่ง ขณะที่การตรวจแรงงานในเรือประมง 523 ลำ ลูกจ้าง 6,815 คน พบกระทำผิด 10 ลำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับการไม่จัดทำสัญญาจ้าง ไม่จัดทำเอกสารการจ่ายค่าจ้าง และไม่จัดทำเอกสารเวลาพัก

อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า นอกจากตรวจบังคับใช้แรงงานแล้ว กสร. ได้ดำเนินการในเชิงป้องกันโดยส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการ นายจ้าง ลูกจ้างมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพื่อป้องกันมิให้นายจ้างเอารัดเอาเปรียบและลูกจ้างไม่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ อีกทั้งได้เพิ่มช่องทางการร้องทุกข์ให้แก่แรงงาน โดยให้บริการยื่นคำร้องผ่านอินเตอร์เน็ตเพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายและช่วยให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายได้มากยิ่งขึ้น สำหรับแรงงานประมงที่อาจมีข้อจำกัดเนื่องจากลักษณะของงาน กสร. ได้ติดตั้งตู้รับเรื่องร้องเรียนบริเวณท่าเทียบเรือและแพปลาในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล รวม 96 แห่ง เพื่อให้ลูกเรือประมงได้ร้องเรียนผ่านช่องทางดังกล่าว จากความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กสร.  ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิแรงงาน แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ ด้วยการคุ้มครองแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ หากลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจ้างงานสามารถร้องเรียนได้ที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ หรือที่สายด่วนเพื่อผู้ใช้แรงงาน 1506