กสร.ชี้ลูกจ้างก่อสร้างสะพานข้ามเจ้าพระยาจ.ชัยนาท มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามปกติ

0
533
image_pdfimage_printPrint

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ย้ำนายจ้างก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำจ.ชัยนาท ให้ลูกจ้างหยุดงานต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติหากเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย พร้อมสอบความปลอดภัยเพิ่มเติม 9 ต.ค.นี้

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือลูกจ้างกรณีคานสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างเทศบาลเมืองชัยนาทไป ตำบลท่าชัย อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างได้เกิดการทรุดตัวและพังถล่มลงมาเป็นเหตุให้ลูกจ้างได้รับเจ็บบาดจำนวน  3 ราย และต่อมากระทรวงคมนาคมได้สั่งหยุดการก่อสร้างเป็นการชั่วคราวเพื่อให้หน่วยงานด้านวิศวกรรมและความปลอดภัยเข้าตรวจสอบและประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัย เมื่อวานนี้ (2 ต.ค. 60) พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชัยนาท ได้เข้าชี้แจงสิทธิหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้กับผู้แทนบริษัท โชคดีวิศวภัณฑ์ จำกัด ผู้รับเหมาชั้นต้น บริษัท กิติปรีดา จำกัด และบริษัท อทาโส คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้รับเหมาช่วง ได้ทราบว่ากรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานเพราะเหตุดังกล่าวจะต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามปกติ และหากมีการเลิกจ้างลูกจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์อื่นให้กับลูกจ้างตามกฎหมาย ทั้งนี้จากการตรวจเยี่ยมนายจ้างได้รับทราบข้อกฎหมายแล้วและแก้ปัญหาด้วยการส่งลูกจ้างบางส่วนไปทำงานในหน้างานอื่น ๆ ของบริษัท อย่างไรก็ตามกสร.จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป

รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อไปว่า สำหรับการตรวจสอบเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานนั้น ในเบื้องต้นได้สอบข้อเท็จจริงตัวแทน บริษัท กิติปรีดา จำกัด นายจ้างของลูกจ้างที่บาดเจ็บทั้ง 3 คน ในเรื่องการปฎิบัติตามพระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554, กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2549 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ.2551 ทั้งนี้นายจ้างจะนำเอกสารที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเพิ่มเติมอีกครั้งในวันที่ 9 ตุลาคม 2560 นอกจากนี้กสร.ได้ประสานกรมทางหลวงชนบทมเพื่อขอข้อมูลประกอบการดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมายด้วย หากพบว่านายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องจะดำเนินการตามกฎหมายทันที ซึ่งความผิดตามพ.ร.บ.ความปลอดภัยฯและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องดังกล่าวมีอัตราโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ